เอไอเอ ประเทศไทย เดินหน้าจัดงาน AIA Nobel Laureates Luncheon Talk Series ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Japan-ASEAN Bridges Event Series ร่วมกับ The International Peace Foundation ในหัวข้อ “A Financial Approach to Climate Risk” โดยศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอนเกิล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2546 ซึ่งได้ค้นพบโมเดล Autoregressive Conditional Heteroskedasticity (ARCH) ที่นำมาใช้วิเคราะห์ความผันผวนของดัชนีหลักทรัพย์ รวมไปถึงการคิดค้น “แผนป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ” (Climate Hedge Portfolios) ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงระยะยาวที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของทุกคน เพื่อต่อยอดความมุ่งมั่นของเอไอเอ ที่ต้องการสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพชีวิตและสุขภาพการเงินที่มั่นคงอย่างยั่งยืน ตามคำมั่นสัญญา ‘Healthier, Longer, Better Lives – เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น’ ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการจากหลากหลายสถาบันที่เข้าร่วมรับฟังการบรรยายในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพ
นายนิคฮิล แอดวานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “เอไอเอ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดงานอันทรงคุณค่าอย่าง AIA Nobel Laureates Luncheon Talk Series เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำถึงเป้าหมายของเราที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมและผู้คนอย่างน้อยหนึ่งพันล้านคนให้มีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นภายในปี 2573 แน่นอนว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate change ได้กลายเป็นหนึ่งในความเสี่ยงหลักที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและเศรษฐกิจโลก ในฐานะที่เอไอเอเป็นบริษัทประกันชีวิตอันดับหนึ่ง ที่นอกจากจะมอบความคุ้มครองด้านชีวิตและสุขภาพแล้ว เรายังเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่องผ่านการลงทุนในหุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้นเรายังตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้นำด้าน ESG ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ตลอดจนทำให้เอไอเอสามารถดูแลลูกค้า ชุมชน และสังคม รวมถึงประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
ผมเชื่อว่าการบรรยายพิเศษจากศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอนเกิล เจ้าของรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทุก ๆ องค์กรในการเดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือระดับประเทศ เพื่อจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศ ยิ่งไปกว่านั้น เอไอเอมีความมุ่งหวังที่จะนำพาอุตสาหกรรมด้านการเงินและการประกันภัยให้มีความพร้อมมากขึ้นในการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”
ส่วนหนึ่งจากการบรรยายของ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอนเกิล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2546 ได้อธิบายถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ (Physical Risks) รวมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ (Transition Risks) และนัยสำคัญที่เกี่ยวข้องต่อการจัดการหลักทรัพย์ ธนาคาร การประกันภัย และข้อกำหนดต่าง ๆ รวมไปถึงความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่ยังถือเป็นแนวทางที่องค์กรต่าง ๆ ต้องศึกษาเพื่อหาความร่วมมือระดับโลกในการจัดการกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
“การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเป็นหนึ่งในตัวอย่างของความเสี่ยงระยะยาว (Long Run Risk) ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนต้องหาทางออกเพื่อจัดการกับปัญหานี้ ซึ่งการใช้ “แผนป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ” (Climate Hedge Portfolios) ถือเป็นเครื่องมือเพื่อป้องกันความเสี่ยง รวมไปถึงการประเมินหุ้นและผลตอบแทนจากการลงทุนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี โมเดล Autoregressive Conditional Heteroskedasticity (ARCH) ยังสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ความผันผวนของดัชนีหลักทรัพย์ และประเมินความเสี่ยงด้านการเงินและหลักทรัพย์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์นำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อคาดการณ์ราคาหุ้นและตัวแปรทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอนเกิล กล่าว
สำหรับงาน AIA Nobel Laureates Luncheon Talk Series ครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Living to 100 ที่เอไอเอมุ่งตอกย้ำถึงการวางแผนด้านการเงินและสุขภาพระยะยาวเพื่อสร้างความมั่นคงในช่วงสุดท้ายของชีวิต ด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์เป้าหมายของลูกค้าเฉพาะบุคคล ส่งเสริมให้คนไทยมีอนาคตที่มั่นคงอย่างยั่งยืน ตามคำมั่นสัญญา ‘Healthier, Longer, Better Lives – เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น’ โดยสามารถศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aia.co.th/th/campaigns/living-to-100/family