รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗ ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร
จากการประชุมได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๔ ราย (จ้างรีโนเวทบ้าน จ้างตกแต่งภายใน จ้างรับเหมาตกแต่งเฟอร์นิเจอร์และสัญญาเช่าห้องชุด) และดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๑๗ ราย (เช่ารถยนต์ จ้างสร้างบ้านน็อคดาวน์สั่งซื้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คสั่งซื้อหม้อหุงข้าวจ้างติดตั้งลิฟต์ใช้บริการซักแห้งซื้อ IPAD PRO เช่าชุดแต่งงาน นำบิดาไปฝากดูแลสั่งซื้อกรอบทองพระเครื่อง สั่งทำนามบัตร ใช้บริการดูแลผู้ป่วย จ้างจัดหาพี่เลี้ยง เป็นสมาชิก FITNESSสั่งซื้อน้ำหอม สั่งซื้อชุดถ้วยชาม) รายละเอียด ดังนี้
ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์
๑. กรณีผู้บริโภคทำสัญญาว่าจ้างรีโนเวทบ้าน ๒ ชั้น กับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๗๗๕,๐๐๐ บาท แต่บริษัทฯ ดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและทิ้งงานไป และได้มีการทำหนังสือรับสภาพหนี้ โดยกำหนดว่าจะคืนเงินให้แก่ผู้ร้องจำนวน ๔๖,๔๕๓ บาท แต่บริษัทฯ ไม่ชำระเงินตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย มติที่ประชุมจึงเห็นควรดำเนินคดีแพ่ง เพื่อบังคับให้บริษัทฯ คืนเงินจำนวน ๔๖,๔๕๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๒. กรณีผู้บริโภคตกลงว่าจ้างตกแต่งภายในงานติดตั้งผนังเบากับผู้รับจ้าง ในราคา ๑๗,๕๘๔ บาท กำหนดส่งมอบงานภายใน ๔-๕ วันนับจากวันเริ่มงาน ได้ชำระเงินมัดจำจำนวน ๗,๕๘๔ บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับเงิน ซึ่งผู้รับจ้างแจ้งว่าเป็นภรรยาของตน และหลังจากนั้นผู้รับจ้างไม่ได้เข้ามาดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้จนผู้ร้องติดต่อทวงถามก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา และไม่สามารถติดต่อผู้รับจ้างได้ จึงมีความประสงค์ขอเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน จากการพิจารณาเห็นว่าผู้รับจ้างและผู้รับเงินเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำต้องร่วมกันคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค
๓. กรณีผู้บริโภคทำสัญญาจ้างรับเหมาตกแต่งเฟอร์นิเจอร์กับบริษัทแห่งหนึ่งในราคา ๒,๖๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ร้องได้ชำระไปแล้ว ๔ งวดและงวดที่ ๕ ครึ่งหนึ่ง จำนวน ๒,๒๑๐,๐๐๐ บาท ต่อมาผู้รับจ้างดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและทิ้งงาน ผู้ร้องจึงขอให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ว่าจ้างผู้รับจ้างอีกรายมาดำเนินการต่อในส่วนที่เหลือโดยมีค่าเสียหายจากการประเมินราคาเก็บงาน จำนวน ๙๓๑,๓๐๐ บาท จากการพิจารณาเมื่อผู้รับจ้างทิ้งงานไปจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญามติที่ประชุมเห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายตามการประเมินความเสียหายจำนวน ๙๓๑,๓๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายเมื่อทั้งสองไม่คืนเงิน จึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้รับจ้างทั้งสองราย เพื่อร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน ๗,๕๘๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๔. กรณีผู้ร้องซึ่งเป็นชาวต่างชาติได้ทำสัญญาเช่าห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ราคาเช่าและการชำระเงินสำหรับการเช่า ๓๐ ปี และได้ชำระเงินไปแล้วจำนวน ๒,๒๓๒,๕๐๗ บาท แต่ปรากฏว่า บริษัทฯ ดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดไม่แล้วเสร็จ จากการพิจารณาเห็นว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นการพักอาศัยในโครงการอาคารชุด จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจเมื่อสัญญาเช่าห้องชุดดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน ดังนั้น การที่ผู้ร้องได้ชำระเงินค่าเช่าห้องชุดให้กับบริษัทฯ ไปแล้วจำนวนหนึ่ง พบว่า โครงการฯ ยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และบริษัทฯ ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและแจ้งเหตุของการล่าช้า และเสนอให้ผู้ร้องพิจารณารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการอื่นที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ผู้ร้องปฏิเสธ ไม่รับข้อเสนอ ปัจจุบันใบอนุญาตได้หมดอายุและโครงการดังกล่าว มิได้ดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด บริษัทฯ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่บริษัทฯ ไม่คืนเงินที่ผู้ร้องชำระไปแล้วทั้งหมดจึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคมติที่ประชุมเห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๒,๒๓๒,๕๐๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการ
๑. กรณีผู้บริโภคเช่ารถยนต์โดยตกลงค่าเช่าวันละ ๑,๐๐๐ บาท จำนวน ๓ วัน รวมเป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท และเงินประกันจำนวน ๕,๐๐๐ บาท โดยได้ชำระเงินมัดจำไว้จำนวน ๑,๐๐๐ บาท และส่วนที่เหลือชำระในวันรับรถยนต์จำนวน ๗,๐๐๐ บาท ต่อมาผู้ร้องได้ส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่บริษัทฯ แต่บริษัทฯ ไม่คืนเงินและอ้างว่าได้โอนเงินคืนแล้ว โดยส่งหลักฐานการโอนเงินของบัญชีผู้อื่นมาให้ผู้ร้องทราบ ซึ่งผู้ร้องโต้แย้ง แต่บริษัทฯ ก็ไม่คืนเงินแต่อย่างใด กรณีบริษัทฯ ไม่คืนเงินประกันดังกล่าวจึงถือว่ากระทำผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท เพื่อบังคับให้คืนหรือชดใช้เงินจำนวน ๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๒. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาว่าจ้างสร้างบ้านน็อคดาวน์จำนวน ๒ หลัง ราคา ๓๔๒,๐๐๐ บาท ผ่านเฟซบุ๊ก กำหนดแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบและติดตั้งภายใน ๖๐-๗๕ วัน ซึ่งผู้ร้องชำระเงินแล้ว จำนวน ๒๓๙,๔๐๐ บาท แต่เมื่อครบกำหนดตามสัญญาฯ ผู้รับจ้างสร้างบ้านน็อคดาวน์ไม่ส่งมอบบ้านให้และไม่สามารถติดต่อได้ ผู้ร้องจึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืน เมื่อผู้รับจ้างไม่คืนเงินให้แก่ผู้ร้องทั้งหมดจึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคมติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้รับจ้างเพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๒๓๙,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๓. กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คยี่ห้อ Asus TUF Gaming ในราคา ๔๔,๔๐๐ บาท กับบริษัทแห่งหนึ่งผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้ร้องได้ชำระเงินครบถ้วนแล้วโดยการโอนเงิน ต่อมาบริษัทฯขอเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คยี่ห้อ Lenovo Legion ราคา ๘๙,๙๙๐ บาท และบริษัทฯ ตกลงแถมอุปกรณ์ให้แก่ผู้ร้องเพิ่มเติมรวมมูลค่าของแถมเป็นจำนวนเงิน ๑๒,๘๒๔.๑๐ บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาส่งมอบไว้และบริษัทฯ ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท และให้ส่งมอบคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คยี่ห้อ Lenovo Legion ราคา ๘๙,๙๙๐ บาทและอุปกรณ์ให้แก่ผู้ร้องหากบริษัทฯไม่ดำเนินการ ให้ชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าของคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คพิพาทและของแถมตามข้อตกลง รวมเป็นจำนวนเงิน ๑๐๒,๘๑๔.๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๔. กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อหม้อหุงข้าวรุ่น ไฮโซพรีเมี่ยม ราคา ๖๐๐ บาท ผ่านเฟซบุ๊กแบบเรียกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งผู้ขายแจ้งว่าหากสินค้าชำรุดเสียหายสามารถเปลี่ยนสินค้าได้ ต่อมาผู้ร้องได้รับสินค้า แต่หลังจากได้ตรวจสอบแล้วพบว่าสินค้ามีรอยแตกเสียหาย จึงติดต่อผู้ขายเพื่อให้รับผิดชอบ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จากการพิจารณาเมื่อผู้ขายไม่คืนเงินให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ขาย เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๕. กรณีผู้บริโภคว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งดำเนินการติดตั้งลิฟต์ในบ้าน ราคา ๘๐๐,๐๐๐ บาทชำระเงินไปแล้ว ๗๒๐,๐๐๐ บาท ภายหลังติดตั้งไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากชิ้นส่วนอะไหล่ไม่ตรงรุ่น ผู้ร้องจึงได้ติดตามให้บริษัทฯ ดำเนินการติดตั้ง แต่ถูกบ่ายเบี่ยง เป็นเหตุให้ผู้ร้องต้องว่าจ้างอีกหนึ่งบริษัทดำเนินการแก้ไขแทน เมื่อบริษัทฯไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทและกรรมการผู้จัดการ เพื่อบังคับให้คืนหรือชดใช้เงินจำนวน ๓๒๕,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๖. กรณีผู้บริโภคนำเสื้อสูทผู้ชายทรงเทเลอร์ ยี่ห้อ GQ รุ่น Super Black Tailored Black ใช้บริการซักแห้งกับร้านแห่งหนึ่ง ค่าบริการ ๑๒๐ บาท เมื่อได้รับเสื้อสูทดังกล่าว ปรากฏว่าบริเวณด้านหลังไหล่ขวามีรอยไหม้และเส้นด้ายหลุดลุ่ย จึงติดต่อร้านฯ เพื่อรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว แต่ได้รับการปฏิเสธ ร้านดังกล่าวจึงเป็นฝ่ายกระทำผิดสัญญาถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ร้านซักแห้ง เพื่อบังคับให้ชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๗. กรณีผู้บริโภคซื้อ IPAD PRO 250 GB ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทแห่งหนึ่ง และได้มีการซื้อจากตัวแทนจำหน่ายสินค้า ราคา ๓๘,๙๐๐ บาท รับประกันคุณภาพ ๑ ปี เมื่อนำมาใช้งานตามปกติ พบว่าหน้าจอดับมีจุดสีน้ำตาลภายในจอ และมีรอยเส้นบนหน้าจอเป็นแนวยาวจอกระพริบตลอดเวลา โดยหน้าจอไม่แตก ร้าว และไม่ปรากฏร่องรอยถลอก จึงมีความประสงค์ให้ผู้ถูกร้องทั้งสองรับผิดชอบ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิและผิดสัญญาต่อผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัททั้งสอง เพื่อบังคับให้ร่วมกันรับผิดโดยเปลี่ยนสินค้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากไม่ดำเนินการ เห็นควรบังคับให้บริษัทฯ ทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินหรือชดใช้เงิน จำนวน ๓๘,๙๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๘. กรณีผู้บริโภคตกลงทำสัญญาเช่าชุดแต่งงานกับบริษัทแห่งหนึ่ง ราคา ๙,๙๙๙ บาท โดยเรียกเก็บค่าประกันชุดแต่งงาน ๑๕,๐๐๐ บาท และมีข้อตลงตามสัญญา ให้รับเงินประกันคืนภายใน ๔ อาทิตย์นับจากวันที่คืนชุด ภายหลังผู้ร้องคืนชุดแต่บริษัทไม่คืนเงินประกันดังกล่าว การกระทำจึงเป็นการผิดสัญญาและเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๙. กรณีผู้บริโภคทำสัญญาเช่าชุดแต่งงานในราคาโปรโมชัน ๙,๙๙๙ บาท แถมโรงแรม ๒ คืนชำระเงิน ๑๒,๓๕๙ บาท โดยสัญญาไม่มีกำหนดวันหมดอายุเข้าพักโรงแรม ต่อมาผู้ร้องได้รับแจ้งว่า ขอยกเลิกของแถมโรงแรม และจะดำเนินการคืนเงินค่าโรงแรมจำนวน ๓๐๐ บาท/ห้อง/คืน ผู้ร้องเห็นว่าไม่เป็นธรรม จากการพิจารณาการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาและเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท และผู้มีอำนาจลงนาม เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน ๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๐. กรณีผู้บริโภคนำบิดาไปฝากดูแลที่บริษัทแห่งหนึ่ง โดยชำระเงินด้วยวิธีการโอนไปยังบัญชีเป็นเงินจำนวน ๒๘,๐๐๐ บาท ปรากฏว่าให้บิดานอนในห้อง ไม่พาเข้าห้องน้ำ และไม่พาเดินจึงทำให้บิดาของผู้ร้องเกิดอาการเครียด ซึ่งอยู่ได้เพียง ๔ วัน จึงได้นำบิดากลับบ้าน และแจ้งให้บริษัทฯ คืนเงินมัดจำ แต่ได้รับการปฏิเสธ กรณีดังกล่าวทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย เมื่อบริษัทฯ ไม่คืนเงินมัดจำจึงเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท และผู้มีอำนาจลงนาม เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๑. กรณีผู้บริโภคสั่งซื้อกรอบทองพระเครื่องผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก เหรียญพระยาพิชัยดาบหักและพระอุตรดิตถ์ โดยผู้ขายมีการโฆษณาว่าเป็นกรอบทองแท้ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ น้ำหนัก ๒.๒ กรัม ราคา ๓,๑๕๐ บาท ตกลงต่อรองราคากันเป็นเงิน ๒,๘๐๐ บาท ชำระเงินเข้าบัญชีผู้ขาย เมื่อได้รับสินค้า ปรากฏว่าเป็นกรอบทองไมครอน จึงติดต่อไปยังเพจฯ ดังกล่าว เพื่อขอคืนเงิน แต่ได้รับการปฏิเสธ จากการพิจารณาการที่ผู้ขายไม่คืนเงิน เพิกเฉยจึงเป็นการกระทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีดำเนินคดีแพ่งกับผู้ขาย เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๒,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๒. กรณีผู้บริโภคสั่งทำนามบัตรผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ในราคา ๔,๐๐๐ บาท ชำระค่าว่าจ้างเข้าบัญชี เมื่อผู้ร้องได้รับนามบัตร ปรากฏว่าไม่ตรงตามที่ได้ตกลงกันไว้ จึงติดต่อเพื่อให้ทำการแก้ไข แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงมีความประสงค์ขอเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืนและเรียกร้องค่าเสียหาย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการกระทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้รับจ้าง เพื่อบังคับให้ชดใช้เงินจำนวน ๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๓. กรณีผู้บริโภคใช้บริการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุกับห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง และได้ชำระค่าบริการ ๑๗,๐๐๐ บาท ค่าประกัน ๑๗,๐๐๐ บาท และค่าจัดส่งพนักงาน ๓,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๗,๐๐๐ บาท แต่ปรากฏว่าพอถึงวันทำงานห้างฯ ไม่ส่งคนมาดูแล เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย จากการพิจารณา การไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าว จึงเป็นพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบ จงใจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายมติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีดำเนินคดีแพ่งกับห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนผู้จัดการ เพื่อบังคับให้ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน ๓๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๔. กรณีผู้บริโภคทำสัญญาว่าจ้างจัดหาพี่เลี้ยงกึ่งแม่บ้าน กับบริษัทแห่งหนึ่ง ชำระมัดจำ ๗,๓๕๐ บาท โดยมีเงื่อนไขดูแลระยะเวลา ๓ เดือน สามารถเปลี่ยนพนักงานได้ ๓ คน และหากไม่พอใจการทำงาน ภายใน ๗ วันแรก ต่อมาบริษัทฯ จัดส่งพนักงานมาดูแลแต่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ๒ ครั้ง จำนวน ๒ คน และไม่สามารถติดต่อได้อีก เป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย และไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าว จึงเป็นพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบ จงใจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท เพื่อบังคับให้คืนเงิน ๗,๓๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๕. กรณีผู้บริโภคเป็นสมาชิก FITNESS ของบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๔,๙๙๙ บาท แต่ปรากฏว่า สาขาดังกล่าวปิดกิจการ จึงมีความประสงค์ขอเงินคืนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ จำนวนเงิน ๓,๗๔๙ จากการพิจารณา บริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาได้ จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินในส่วนที่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้บริการ มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัท เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๓,๗๔๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๖. กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อน้ำหอม ยี่ห้อ CREED Green Irish Tweed ขนาด ๑๐๐ ml. ผลิตปี ๒๐๒๒ จำนวน ๑ ขวด ในราคา ๖,๔๙๐ บาท กับเพจเฟซบุ๊ก ชำระเงินโดยการโอนเงินไปยังผู้ขายและผู้รับโอนเงินค่าสินค้า แต่สินค้าที่ได้รับเป็นน้ำหอม ยี่ห้อ CREED Green Irish Tweed ขนาด ๑๐๐ ml. ผลิตปี ๒๐๑๑ จึงติดต่อไปยังผู้ขายสินค้าแต่ไม่สามารถติดต่อได้จึงมีความประสงค์ต้องการสินค้าตามที่สั่งซื้อ และหากไม่มีสินค้าตามที่สั่งซื้อขอให้ผู้ขายคืนเงิน จากการพิจารณา ถือได้ว่าผู้ขายไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยส่งมอบสินค้าให้ตรงตามที่สั่งซื้อ ถือว่าผู้ขายเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขาย มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ขายและผู้รับโอนเงินค่าสินค้า เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๖,๔๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๗. กรณีผู้บริโภคสั่งซื้อชุดถ้วยชามซุปเปอร์แวร์ จำนวน ๓ ชุด ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ และได้ชำระเงินผ่านระบบ MobileInternet Banking เป็นเงินจำนวน ๖๐๐ บาท แต่ปรากฏว่าผู้ขายไม่จัดส่งสินค้าให้กับผู้ร้องโดยอ้างว่า ผู้ร้องจะต้องชำระเงินค่าบรรจุสินค้าจำนวน ๔๕๐บาทซึ่งเป็นข้อตกลงเกิดขึ้นภายหลังจากผู้ร้องชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแล้ว จากการพิจารณา จากลักษณะพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ มีการแสดงเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมและไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค มติที่ประชุมเห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ขายและผู้รับเงินจากผู้บริโภค เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
จากการประชุมได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ (๔ ราย) และดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป (๑๗ ราย) โดยได้มีการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน ๒๑ ราย เพื่อให้คืนเงินแก่ผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๔,๐๔๓,๗๔๗.๑๐บาท (สี่ล้านสี่หมื่นสามพันเจ็ดร้อยสี่สิบเจ็ดบาทสิบสตางค์) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายและเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าวรวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร