DSI แถลงคดีทุจริตหุ้น STARK เล็งประสาน ปปง. ใช้มาตรการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) และ วิทยา นีติธรรม โฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้ร่วมกันแถลงความคืบหน้าในการดำเนินการในคดีพิเศษ จำนวน 3 คดี ดังนี้

1. กรณีการทุจริตใน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวน 14,778,000,000 ล้านบาท (คดีพิเศษที่ 57/2566) คดีนี้มีผลกระทบต่อตลาดทุนเป็นอย่างมาก กรมสอบสวนคดีพิเศษโดยกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เริ่มทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนเอง บัดนี้ ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ทางคดีมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา รวม 11 คน ในความผิดตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฟอกเงินตามพระราช-บัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ในวันนี้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษไปยังพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษแล้ว โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยมีเอกสารพยานหลักฐานทั้งสิ้นจำนวน 22 ลัง 140 แฟ้ม 52,968 แผ่น

นอกจากการดำเนินคดีอาญาดังกล่าว คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังพบว่ามีการนำเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท โอนเข้ากลุ่มบริษัทของผู้ต้องหาเพื่อไปชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า รวมทั้งยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้สำนักงาน ปปง. พิจารณาดำเนินการ ติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 49 วรรคท้าย ต่อไป

2. กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แยกดำเนินการเป็น 2 ช่วง รวม 10 คดี กล่าวคือ

ช่วงที่ 1 คดีพิเศษที่ 59/2566 เป็นคดีเริ่มต้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีมีผู้ยื่นคำร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนกรณีมีกลุ่มนายทุน บริษัทดำเนินพิธีการศุลกากรหรือชิปปิ้ง ร่วมกันลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ด้วยการสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยง อากร ซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องด้วย กรณีตรวจพบตู้สินค้าเป็นสุกรแช่แข็งตกค้าง
ในท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้ หนักประมาณ 4.5 ล้านกิโลกรัม ทางการสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาแล้ว จำนวน 2 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตาม
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แล้ว อันเป็นการดำเนินการเฉพาะส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ช่วงที่ 2 เป็นการดำเนินคดีกับเอกชนที่เป็นบริษัทที่ปรากฏหลักฐานว่านำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วยคดีพิเศษที่ 101-109/2566 ซึ่งมีการสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องทุกคดี พบหลักฐานน่าเชื่อว่ามีการลักลอบนำเข้าซากสุกรอีกจำนวน 2,385 ตู้ ปริมาณ 59,625 ตัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ภายใต้คดีพิเศษที่ 103/2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นเป้าหมาย จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม มีการตรวจยึดสิ่งของมาเป็นพยานหลักฐาน รวมทั้งพบการกระทำผิดซึ่งหน้า 1 จุด เป็นบริษัทประกอบ ธุรกิจห้องเย็น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ตรวจพบซากสุกร (หมูสามชั้น) จำนวน 7 ตัน ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐมได้ดำเนินการตรวจยึดซากสุกรดังกล่าวเพื่อส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสามควายเผือกดำเนินคดีต่อไป เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ประกาศควบคุมโรคอหิวาตกโรคในสุกร (ห้ามไม่ให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ในเขตห้ามเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต) อันเป็นการป้องกันเหตุไม่ให้พี่น้องประชาชนต้องบริโภคหมูที่ไม่ถูกสุขลักษณะด้วย

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีการขยายผลตรวจค้นและดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินคดีกับกลุ่มนายทุน ข้าราชการการเมือง และอดีตข้าราชการ การใช้มาตรการคุ้มครองพยานแก่พยานรายสำคัญ
การดำเนินการโดยใช้กฎหมายฟอกเงินดำเนินการ ยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด

3. กรณีหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ในระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 (ช่วง pre-open) มีกลุ่มบุคคลรวม 32 ราย ร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 800,000,000 บาท (คดีพิเศษที่ 66/2566)

คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานสอบสวนกองบัญชาการสอบสวนกลางที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อช่วยเหลือในการสืบสวนและสอบสวน คดีพิเศษตามมาตรา 33 แห่ง พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาจำนวน 29 ราย และแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาแล้วจำนวน 10 ราย และอยู่ระหว่างเร่งรัดตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อนำมาตรการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาดำเนินการต่อไป

Loading