กรมควบคุมโรค โดยกองระบาดวิทยา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ ความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่สำคัญแก่ภาคีเครือข่าย

 กรมควบคุมโรค โดยกองระบาดวิทยา ร่วมกับองค์การอนามัยโลก จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ ความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่สำคัญแก่ภาคีเครือข่ายและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประธานในพิธีกล่าวเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ ความเข้มแข็งในการเฝ้าระวังโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่สำคัญแก่ภาคีเครือข่าย และได้รับเกียรติจาก Dr.Olivia Corazon Nieveras ตัวแทนของผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมในพิธีเปิดการประชุมในครั้งนี้ การจัดงานประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เป้าหมายและข้อกำหนดของการเฝ้าระวังโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่สำคัญในกลุ่มโรคกำจัดกวาดล้าง รวมถึงการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลัง
การได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่เครือข่ายทุกระดับ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด เพื่อพัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนให้มีความเข้มแข็งในทุกระดับ และเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องโรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคเมลิออยโดสิส รวมถึงการดำเนินงานของการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และโรคติดต่อที่สำคัญ ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานต่อไป โดยเน้นย้ำการเพิ่มความเข้มแข็งของการเฝ้าระวัง และความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในโปรแกรมสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในกลุ่มเป้าหมาย

ด้าน นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนอาจไม่คุ้นชินกับคำว่า “โรคที่ต้องกำจัดกวาดล้าง” และอาจเข้าใจว่าเป็นโรคระบาดใหม่อีกหรือไม่ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นโรคที่มีมานาน เป็นโรคติดต่อที่มีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้วัคซีนป้องกันโรค เพื่อเป็นการป้องกันการเสียชีวิต การเจ็บป่วยรุนแรง รวมถึงความสูญเสียทางสุขภาวะ และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น โรคโปลิโอ โรคหัด หัดเยอรมัน และหัดเยอรมันแต่กำเนิด โรคไอกรน โรคคางทูม โรคฝีดาษ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโรคที่เคยได้ยินกันมานานแล้ว และหน่วยงานด้านสาธารณสุขมีแผนการดำเนินงาน ควบคุมและป้องกันโรคอย่างชัดเจนด้วยการส่งเสริมการฉีดวัคซีน เชื่อว่าการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ บุคลากรด้านสาธารสุขที่เข้าร่วมจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวมถึงตัวแทนโรงพยาบาลรวมกว่า 200 คน จะได้รับองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลให้แก่หน่วยงานที่อุทิศตนสนับสนุนการทำงานด้านการเฝ้าระวัง สอบสวน และการรายงานผู้ป่วยอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน เพื่อเป้าหมายการกำจัดกวาดล้างได้อย่างโดดเด่น เป็นการเสริมกำลังใจในการทำงานแก่เครือข่ายจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมถึงโรงพยาบาลทั่วประเทศอีกด้วย

Loading