เปิดโปง ! แอปฯ ‘SPELL’ ตุ๋นลงทุนเอี่ยวค้ามนุษย์

เปิดแฟ้มมหากาพย์ “แชร์ลูกโซ่” รับต้นปี ?!! หลังดาราดัง “เอสเธอร์” โร่เข้าแจ้งความกับ “ศูนย์ PCT” แสดงความบริสุทธิ์ใจ น้ำตาคลอถูกหลอกเป็นพรีเซนเตอร์ให้แพลตฟอร์มช้อปปิ้งน้องใหม่จากจีน แอปพลิเคชัน “SPELL” อ้างซื้อสินค้าได้ถูกกว่าท้องตลาดสูงสุดถึง 80% แต่ต้องชวนคนอื่นมาลงทุน ขุดบ่อล่อปลาตุ๋นคนไทยจนเปื่อย หนักข้อ! เอี่ยวค้ามนุษย์ข้ามชาติ หลอก “แรงงานไทย” ข้ามแดนไปใช้แรงงานทาสที่ “กัมพูชา” มากกว่า 100 คน ทำร้ายร่างกาย บีบบังคับเป็น “นกต่อ” ตีสนิทเหยื่อคนไทยผ่านออนไลน์ให้เอาเงินมาลงทุน พบเหยื่อหลงเชื่อสูญเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อราย สุดท้ายเข้าอีหรอบเดิม ปิดแอปฯ ปิดบัญชี เชิดเงินหนีหายเข้ากลีบเมฆ “ตำรวจ” ย้ำ! ผู้เสียหายรีบรวมตัวแจ้งความร้องทุกข์ด่วน

ถือเป็นข่าวที่ดังครึกโครมรับต้นปีเสือไฟ กับการเดินทางไปแจ้งความของดาราสาวชื่อดัง “เอสเธอร์ สุปรีย์ลีลา” หรือ “เอสเธอร์” ที่ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศสํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ “ศูนย์ PCT” เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา โดยแถลงข่าวว่า การเข้าแจ้งความในครั้งนี้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่าตนไม่มีความเกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง “SPELL” โดยชี้แจงว่าตนเพียงแค่เคยถูกว่าจ้างให้เป็นพรีเซนเตอร์ในช่วงเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา และเซ็นสัญญาเป็นระยะเวลา 1 ปี แต่ได้ทำการยกเลิกสัญญาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2564 หลังจากได้รับการร้องเรียนเข้ามาส่วนตัวผ่านทางมารดาจากผู้เสียหายว่าเงินที่ลงทุนไปกับแอปพลิเคชันดังกล่าวไม่ได้เงินคืน แถมหลายรายถูกปิดบัญชีไปแล้ว โดยตนเองก็ถูกปิดบัญชีเช่นเดียวกัน และพยายามติดต่อผู้บริหารและพนักงานของแอปพลิเคชันดังกล่าวเพื่อสอบถามความจริง แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้

 เปิดตัวสุดหวือหวาดึง “เอสเธอร์” เป็นพรีเซนเตอร์

“เดอะ พาวเวอร์ เน็ตเวิร์ค” ฉบับนี้ จึงทำการสรุปข้อมูลสำคัญและเรียบเรียงไทม์ไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ทุกท่านได้ทราบ เริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2564 มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่มาแรงสัญชาติจีนชื่อ “SPELL” โดยอ้างว่านี่คือแพลตฟอร์มการช้อปปิ้งออนไลน์รูปแบบใหม่ ที่มีจุดเด่นคือผู้ที่ซื้อสินค้าสามารถซื้อสินค้าได้ถูกกว่าท้องตลาดและแอปพลิเคชันอื่นถึง 3080%

แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้ที่จะซื้อสินค้าราคาพิเศษนี้ จะต้องชักชวนบุคคลอื่นมาสมัครสมาชิก เพื่อลงทุนหรือเรียกว่าเพื่อ “หั่นราคา” และต้องเติมเงินเข้าระบบก่อนการซื้อสินค้า จากนั้นเมื่อเติมเงินเข้าระบบเท่ากับราคาสินค้า จะได้เงินต้นคืนรวมถึงจะได้ปันผล 1020% เป็นผลตอบแทนด้วย โดยในช่วงแรกมีการปันผลออกไปจริง จึงทำให้ผู้คนหลงเชื่อมากขึ้นและกล้าชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนต่อกันไปเป็นจำนวนมาก จากยอดเพียงหลักร้อย จึงเริ่มมีเหยื่อหลงเชื่อเอาเงินมาลงทุนเพิ่มเป็นหลักหมื่นหลักแสน

กระทั่งระยะเวลาผ่านไปประมาณ 34 เดือน เกิดความผิดปกติขึ้น เมื่อมีผู้เสียหายจำนวนมากเริ่มไม่ได้รับเงินปันผลและถูกปิดบัญชีไป ทำให้ไม่สามารถถอนเงินออกจากบัญชีของตัวเองได้ในที่สุด ผู้เสียหายจำนวนมากจึงสอบถามและร้องเรียนไปที่ “เอสเธอร์” ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์จนเรื่องแดงและเป็นข่าวใหญ่รับต้นปี

 3 เดือน” หางโผล่! เอี่ยวค้ามนุษย์ข้ามชาติ

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์สุดระทึกเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ข้ามชาติในประเทศกัมพูชา ที่พบว่ามีความเกี่ยวโยงกับแอปพลิเคชัน “SPELL” โดยคลิปดังกล่าวเป็นภาพของกลุ่มชายไทยและหญิงไทยจำนวนหนึ่ง กำลังช่วยกันพังประตูเหล็ก ด้วยท่าทางหมือนคนกำลังหนีตายออกไปนอกอาคาร

ซึ่งจากการรายงานข่าวระบุว่า กลุ่มคนไทยดังกล่าวมีร่วม 100 คนต่างถูก “แก๊งชาวจีน” หลอกลวงให้เดินทางข้ามประเทศมาทำงานตั้งแต่ ช่วงกลางปี 2564 โดยอ้างว่าจะมีรายได้ดีรับเป็นสกุลเงินดอลลาร์เพียงทำงานออนไลน์และเป็นคอลเซ็นเตอร์หาลูกค้าให้กับแอปพลิเคชันที่ทันสมัย แต่เมื่อทุกคนเดินทางมาถึง จึงพบว่าถูกหลอก ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้พบเจอโลกภายนอก และบังคับให้ทำงานวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง ก่อนที่ตำรวจกัมพูชาและเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย จะได้รับเรื่องประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ให้การเข้าช่วยเหลือได้ในวันดังกล่าว และช่วยพาแรงงานทั้งหมดส่งกลับประเทศไทยได้ในที่สุด

แรงงานไทยที่ถูกหลอกลวงบางรายได้เปิดเผยข้อมูลกับสื่อมวลชนว่าแก๊งชาวจีนหลอกให้พวกตนเป็นผู้แนะนำให้ลูกค้ามาลงทุนกับแอปพลิเคชัน เพื่อผลตอบแทนที่ดีภายในระยะเวลาอันสั้น และบังคับว่าจะต้องทำยอดให้ได้ตามเป้า หากทำไม่ได้จะโดนกักขัง และทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการหักเงิน ทำให้แรงงานบางรายนอกจากจะไม่มีรายได้แล้ว ยังมียอดเงิน ติดลบกับแก๊งชาวจีนดังกล่าวด้วย

ส่วนวิธีการหลอกลวงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเหยื่อจะอยู่ในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจะให้แรงงานทุกคนสร้างโปรไฟล์เฟซบุ๊กปลอม 1 คน ไม่ต่ำกว่าคนละ 25 แอคเคาต์ ส่วนมากจะใช้เป็นรูปผู้หญิงหน้าตาดีในการล่อเหยื่อ บางรายใช้ระยะเวลาในการคุยตีสนิท และทำให้เหยื่อไว้วางใจมากถึง 23 เดือน ก่อนจะดำเนินแผนการในสเตปถัดไป คือ โทรไปออดอ้อนเหยื่อ โดยใช้คำว่า “ช่วยเปิดบิลวันนี้หน่อย ยังไม่มียอดเลย” พร้อมบอกว่าเริ่มต้นลงทุนแค่ 200 บาท ก็จะได้เงินคืนภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมดอกเบี้ย

จากจำนวนเงินเริ่มต้นที่น้อย เหยื่อจึงตายใจ และได้รับลิงก์ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “SPELL” ที่อ้างว่าปลอดภัยแน่นอน เพราะสมัครเองได้ โอนเองได้ ถอนเองได้ เมื่อเหยื่อเริ่มติดกับ และได้เงินคืนไปในช่วงแรก จึงกล้าที่จะโอนเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางรายสูงสุดรวมกันแล้วเป็นหลักล้านบาท

ส่วนทางด้านแรงงานที่ถูกหลอกมาให้เป็น “นกต่อ” ถ้าคนไหนขัดขืนไม่ทำตามแผนที่แก๊งชาวจีนวางไว้หรือทำยอดไม่ถึงเป้า จะถูกกักขังทุบตีด้วยกระบองโดยที่ไม่สามารถหนีไปไหนได้ เพราะมีคนเฝ้ายาม ที่มีอาวุธและปืนคอยสอดส่องควบคุมอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดหนึ่งในกลุ่มแรงงาน ทนสภาพดังกล่าวและการต้องหลอกลวงคนไทยด้วยกันไม่ไหว จึงได้แอบรวมตัวกันหาหนทางแจ้งเรื่องนี้กลับมายังตำรวจไทย กระทั่งนำไปสู่การประสานงาน เข้าช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกหลอกมาได้สำเร็จ และนำมาซึ่งการเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติที่โยงใยกับแอปพลิเคชันนี้ได้ในที่สุด

 ตำรวจย้ำ! ใครเป็นผู้เสียหายรีบแจ้งความด่วน         

สำหรับแอปพลิเคชัน “SPELL” อยู่ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ทู เท็น ทู เทรด จำกัด โดยมี สิริลักษณ์ ณรงค์ฤทธิ์ เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0105559167818 วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง 26 ตุลาคม 2559 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ปีที่ส่งงบการเงิน 2563, 2562, 2561, 2560 และ 2559 อยู่ในหมวด 46900 การขายส่งสินค้าทั่วไป

ทั้งนี้ หลังการออกมาแจ้งความเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของดาราสาว “เอสเธอร์” ได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้เสียหายจากแอปพลิเคชัน ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก “เดอะ พาวเวอร์ เน็ตเวิร์ค” พบว่า เริ่มมีความเคลื่อนไหวและการนัดรวมตัวกันมากขึ้นของผู้เสียหายตามกระทู้ในเว็บไซต์ต่าง ๆ ในกลุ่มเปิดเฟซบุ๊ก และในโอเพนแชตของไลน์ เพื่อปรึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อเข้าแจ้งความกับ “ศูนย์ PCT

ทางด้าน พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 1 ศูนย์ PCT ชุดสืบสวนสอบสวน เปิดเผยว่า เบื้องต้นทราบชื่อผู้บริหารแพลตฟอร์มดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้เสียหายแต่ละคนว่าไปถึงผู้ใดบ้าง ก่อนที่จะออกหมายเรียกหรือหมายจับมาดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป ส่วนมูลค่าความเสียหายขณะนี้ ยังสรุปไม่ได้ เบื้องต้นพบว่าผู้เสียหายสูญเสียเงินไปประมาณคนละ 10,000 บาท ส่วนกรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. แชร์ลูกโซ่ หรือฉ้อโกงประชาชนหรือไม่นั้น คงต้องรอตรวจสอบจากพยานหลักฐานที่มีก่อน

ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายจากแอปพลิเคชัน “SPELL” ถ้าต้องการร้องเรียนหรือแจ้งความร้องทุกข์ สามารถติดต่อ “ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศสํานักงานตํารวจแห่งชาติ” (ศปอส.ตร.) หรือ “ศูนย์ PCT” สายด่วน 1599 ได้ทันที

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายหากการสอบสวนพบว่า “SPELL” เข้าข่ายเป็น “แชร์ลูกโซ่” จริง จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเข้าข่ายการฉ้อโกงและหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานฉ้อโกง และพระราชกําหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 โดยมีโทษจําคุกกระทงละ 3-5 ปี และโทษปรับวันละ 10,000 บาท

Loading