แม้การรักษาริดสีดวงจะมีหลายวิธี หากเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากผ่าตัด ด้วยเทคโนโลยีผ่าตัดแผลเล็ก (Advanced Minimal Invasive Surgery) ผนวกกับความชำนาญของศัลยแพทย์ด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ได้พัฒนาเทคนิคใหม่ในการรักษาริดสีดวงแบบไม่ต้องผ่าตัดด้วยวิธี เย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง (Transanal Hemorrhoidal Dearterialization – THD) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษา และลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
ศ.(พิเศษ) ดร.นพ.อัฑฒ์ หิรัณยากาศ ผู้อำนวยการคลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ริดสีดวงเกิดจากหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่ง พอง โดยสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ ริดสีดวงทวารภายใน และริดสีดวงทวารภายนอก การเย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง (Transanal Hemorrhoidal Dearterialization – THD) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจหาตำแหน่งของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงริดสีดวงทวาร จากนั้นแพทย์จะทำการเย็บผูกเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวริดสีดวงและเย็บรั้งหัวริดสีดวงกลับเข้าไปด้านในทวารหนัก ทำให้หัวริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมากลับเข้าที่และขณะเดียวกัน ขนาดของริดสีดวงก็จะค่อยๆ ยุบและฝ่อลงโดยไม่จำเป็นต้องตัดเนื้อเยื่อจึงไม่มีแผลผ่าตัดบริเวณทวารหนัก หรือกล้ามเนื้อหูรูด
ซึ่งวิธีการเย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง (Transanal Hemorrhoidal Dearterialization – THD) เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นริดสีดวงทวารภายใน ระยะที่ 3 ซึ่งหัวริดสีดวงทวารจะออกมานอกทวารหนัก ต้องใช้นิ้วมือดันจึงจะกลับเข้าที่ และระยะที่ 4 หรือริดสีดวงโผล่ยื่นออกมาค้างอยู่บริเวณด้านนอกทวารหนัก และไม่สามารถดันกลับให้เข้าที่ได้ ทั้งนี้ เพื่อผลการรักษาอันเป็นเลิศ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ข้อดีของการรักษาริดสีดวงแบบเย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง (THD) คือ ไม่มีการตัดเนื้อเยื่อริดสีดวงออก ทำให้ผู้ป่วยไม่มีแผลผ่าตัด เจ็บน้อย เสียเลือดระหว่างผ่าตัดน้อย ฟื้นตัวเร็ว อาจไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลภายหลังการรักษา สามารถขับถ่ายได้ตามปกติ ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงหลังการรักษา โดยอาการมีข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ ปัสสาวะขัดชั่วคราว หรืออาจมีอาการปวดหลังทำหัตถการได้
ปัญหาที่พบบ่อยอีกอย่างหนึ่งคือภาวะริดสีดวงแตก หากเป็นริดสีดวงแล้วไม่ควรปล่อยให้เลือดคั่งจนริดสีดวงแตก ภาวะริดสีดวงแตกมักเกิดจากริดสีดวงทวารภายนอกที่มีลิ่มเลือดคั่งอยู่ด้านใน อาการที่สังเกตได้ชัดเจนหากริดสีดวงแตก คือ ผู้ป่วยสามารถคลำได้ก้อนแข็งบริเวณขอบทวารหนักนำมาก่อน และ
อาจมีเลือดไหลเรื่อย ๆ ไม่หยุด หรืออาจมีเลือดไหลปริมาณมาก ร่วมกับมีอาการปวด และแสบบริเวณรูทวารหนัก เมื่อริดสีดวงแตกแล้วมีเลือดไหลอย่าวางใจ หากไม่รีบรักษา อาจทำให้เลือดไหลปริมาณมาก จนมีอาการหน้ามืดเป็นลมหมดสติได้ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเลือดที่ออกจากทวารหนักมาจากริดสีดวงหรือจากสาเหตุอื่น
ถ้าริดสีดวงแตก และมีเลือดออกมาก แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดริดสีดวง (Hemorrhoidectomy) ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก มีโอกาสกลับเป็นซ้ำน้อย การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยอาจเลือกไม่นอนพักในโรงพยาบาลได้ (Day Surgery) โดยผ่าตัดเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้ ฟื้นตัวไว ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงภาวะริดสีดวงแตกสามารถทำได้ ไม่ควรเบ่งอุจจาระแรง อย่านั่งโถส้วมนานเกินไป ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 – 10 แก้ว เน้นรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่นรับประทานผัก และผลไม้
โรคริดสีดวงทวารหนักหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ ชะล่าใจปล่อยไว้ไม่รักษา ทั้งที่ความจริงแล้วหากได้รับการรักษาโดยเร็วและถูกวิธี ย่อมมีโอกาสหายและลดความรุนแรงของโรคได้ หากสงสัยหรือมีอาการถ่ายเป็นเลือด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาก่อนโรคจะลุกลามมากยิ่งขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 0 2310 3000 หรือ โทร. 1719 แอดไลน์ : @bangkokhospital