ทิพยประกันภัย ผนึกกำลัง ซิสโก้ เปิดตัว “ประกันภัยไซเบอร์การ์ดพลัส”

“ทิพยประกันภัย” จับมือ “ซิสโก้” เปิดตัว “แผนประกันภัยไซเบอร์การ์ด พลัส” เจาะกลุ่ม SME ยุคดิจิทัล เป็นรายแรกในไทย

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จับมือ ซิสโก้ ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตระดับโลก ผนึกกำลังนำเสนอแผนประกันภัยไซเบอร์การ์ดพลัส “TIP Cyber Guard Plus Powered by Cisco” เจาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก (SME) ที่มีรายได้ไม่เกิน 900 ล้านบาทต่อปี หวังปกป้องและคุ้มครองความเสี่ยงหรือความเสียหายที่เกิดจากการโจมตี หรือตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมทางไซเบอร์

ทั้งนี้ จากสถิติล่าสุดจาก ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ระบุว่าภัยคุกคามไซเบอร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2563 พบภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ รวม 1,474 ครั้ง อันดับ 1 คือการโจมตีด้วยโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับระบบคอมพิวเตอร์ หรือมัลแวร์ (Malicious Code) คิดเป็น 36%

ส่วนการโจมตีในรูปแบบความพยายามเจาะเข้าระบบ (Intrusion Attempts) อยู่ที่ 72 ครั้ง คิดเป็น 4.9%. จากแนวโน้มภัยคุกคามไซเบอร์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันองค์กรต่างๆ จึงให้ความสำคัญในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มากขึ้น

แผนประกันภัยไซเบอร์การ์ดพลัส TIP Cyber Guard Plus Powered by Cisco เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ ทิพยประกันภัย ร่วมกับ ซิสโก้ ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์องค์กรธุรกิจขนาดกลางที่กำลังมองหาความคุ้มครองจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยจากซิสโก้ช่วยตรวจเช็กประเมินความเสี่ยง และแนะนำให้ความรู้ก่อนการเลือกแผนประกันภัยไซเบอร์ที่เหมาะสมกับองค์กรของท่าน

โดยยึดหลักการประเมินความเสียหายสูงสุดที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อสะท้อนค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสมและคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับธุรกิจ อาทิ การสูญเสียรายได้จากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนชุดคำสั่ง อุปกรณ์ที่ถูกทำลายจากภัยไซเบอร์ที่ปกติไม่ครอบคลุมในกรมธรรม์ประเภทอื่น

สำหรับแผนประกันภัยไซเบอร์จะคุ้มครองภัยดังต่อไปนี้ 1.ความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ อันเนื่องมาจากระบบรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายล่มหรือถูกโจมตี 2.ค่าใช้จ่ายในการกู้คืนข้อมูลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ 3.ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการรับแจ้งเหตุความเสียหายและการสืบสวน พร้อมด้วยสายด่วนรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชม. ทุกวันไม่มีวันหยุด

4.ค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาการเสียชื่อเสียงและการสื่อสารในภาวะวิกฤติ 5.ค่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิคในการจัดการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 6.ความรับผิดอันเกิดจากความล้มเหลวในการรักษาข้อมูลที่เป็นความลับและจากการใช้งานเครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต 7.ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี 8.การถูกขู่กรรโชกที่เกี่ยวกับระบบหรือข้อมูล/การถูกข่มขู่ว่าจะถูกเปิดเผยความลับ การแบล็กเมล และ 9.ความรับผิดต่อเนื้อหาทางสื่อออนไลน์

ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 ทุกๆ 32 วินาที มีการโจมตีฐานระบบคอมพิวเตอร์องค์กรใดองค์กรหนึ่ง สร้างความเสียหาย 11.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2568 คาดว่าจะสร้างความเสียหายถึง 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในไทยถูกโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทต่างๆ พยายามหาระบบป้องกัน ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่จะทำประกันภัย Cyber Insurance แต่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งมีรายได้ 30 ล้านเหรียญ หรือ 900 ล้านบาท ยังไม่มีบริการประกันภัยที่ดูและ SME อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปประเมิน

ด้วยเหตุนี้ ทิพยประกันภัย มองเห็นโอกาส และเล็งเห็นความสำคัญเพื่อดูแลองค์กรธุรกิจขนาดกลาง จึงร่วมมือกับ ซิสโก้ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด่าน IT Security Provider ระดับโลกจัดทำแผนประกันภัยไซเบอร์การ์ดพลัส โดย ซิสโก้ เป็นผู้เตรียมระบบและสร้างแพลตฟอร์มในการประเมินความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัย (Cyber Security Risk) ทั้งหมด 9 ข้อ

ซึ่ง ซิสโก้ สามารถประเมิน Cyber Security Risk 9 ระดับ จากนั้น ทิพยประกันภัย จะแบ่งกลุ่มทำประกันภัยออกเป็น 4 กลุ่ม คือ A B C และ D เพี่อกำหนดเงื่อนไขคุ้มครองให้สอดคล้อง แล้วจัดทำราคา นับเป็นการให้บริการประกันภัยทางไซเบอร์สำหรับ SME เป็นครั้งแรกในไทย ขณะเดียวกัน SME จะได้รับประโยชน์จากการที่สามารถประเมินความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้เพิ่มอุปกรณ์และเครื่องมือ สามารถนำเสนอความคุ้มครองที่หลากหลาย

“ทิพยประกันภัยจะเป็นกรมธรรม์รายแรกว่าต้องการประกันภัยแบบ First Party Damage องค์กรเราเอง หรือ Third Party Damage บุคคลภายนอกในกรณีที่ข้อมูลสูญหายไป สามารถเรียกความคุ้มครองได้ เรามีกฎหมายคุ้มครองขิ้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act : PDPA) ที่เข้มแข็ง บริษัทสามารถขอให้ผู้เชี่ยวชาญจากซิสโก้เข้าไปตรวจสุขภาพทาง IT ได้” ดร.สมพร กล่าว

ทวีวัฒน์ จันทรเสโน รักษาการกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า ซิสโก้ ให้ความสำคัญกับทางด้าน Cyber Security มานาน โดยร่วมกับภาครัฐ บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชั้นนำ จัดทำโปรแกรม Cisco Academy ซึ่งผลิตนักศึกษาปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

เนื่องจากสถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์มีแนวโน้มที่สูงขึ้น และมีเคสตัวอย่างให้เห็นมากขึ้น องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมบุคลากร ระบบงาน และเทคโนโลยีไว้ให้พร้อม เพื่อให้สามารถระบุ สกัดกั้นและจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งระบบรักษาความปลอดภัยคือ “รากฐาน” ความสำเร็จของธุรกิจดิจิทัล ปัจจุบันมีทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชั่น การปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวาง ซึ่งทุกอย่างเชื่อมต่อออนไลน์ มองในมุมที่ดีคือการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับองค์กรต่าง ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้มีช่องทางการโจมตีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

จากความต้องการด้าน Manufacturing โลจิสติกส์ และอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งใช้บริการบน Cloud รวมทั้งเทรนด์จากมือถือ ทำงานที่บ้านและที่อื่นๆ ซึ่งมีการ Access เข้าถึงสำนักงาน อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกโจมตีได้

“เราเชี่อว่า เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ SME มั่นใจในการนำธุรกิจ Transform สู่ดิจิทัล จึงออกแบบแพลตฟอร์มร่วมกับ ทิพยประกันภัย ให้ลูกค้ากรอกข้อมูลและผ่านการประเมิน Assessment ความร่วมมือของ ซิสโก้ กับ ทิพยประกันภัย ครั้งนี้ถือเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ และเป็นอีกก้าวสำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจให้องค์กรและธุรกิจไทยในกรณีที่เกิดความเสียหายจากภัยไซเบอร์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่ธุรกิจดิจิทัล” ทวีวัฒน์ กล่าว

Loading