สมาคมประกันชีวิตไทยเชิญชวนประชาชนวางแผนลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทั้งในเรื่องให้ความคุ้มครอง และการออมเงินอย่างมีวินัย ตลอดจนการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในเรื่องการลดหย่อนภาษีได้เป็นอย่างดี
นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สำหรับประชาชนที่กำลังวางแผนภาษีและกำลังมองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มาตอบโจทย์เรื่องการลดหย่อนภาษี สมาคมประกันชีวิตไทยขอแนะนำ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันแบบบำนาญจะทำให้ท่านมีทั้งเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงิน เป็นทั้งการออมและมีความคุ้มครองทั้งชีวิตและสุขภาพในเวลาเดียวกัน ถือเป็นการปูรากฐานให้กับชีวิตเพื่ออนาคตที่มั่นคง รวมทั้งยังสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระในรอบปีสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป หากมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี โดยสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และสำหรับประกันภัยสุขภาพยังสามารถนำเบี้ยประกันภัยสุขภาพตามจำนวนที่จ่ายจริงมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200,000 บาท โดยต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญได้สูงสุด 300,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้เมื่อนำไปรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เมื่อรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ ประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้บิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยเงื่อนไขการหักลดหย่อนภาษีจะต้องเป็นไปตามประกาศกรมสรรพากร
สำหรับประชาชนตัดสินใจทำประกันชีวิต ประกันบำนาญ และประกันสุขภาพ โปรดอย่าลืมแจ้งความประสงค์ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตไปยังบริษัทประกันชีวิต เพื่อเป็นการแสดงความยินยอม (consent) ให้บริษัทนำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันชีวิตให้กับกรมสรรพากรตามแนวทางที่กรมสรรพากรกำหนด มิเช่นนั้นผู้เอาประกันภัยจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตฉบับนั้นได้
ในโอกาสนี้ ขอแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้ว หากมีการยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์ที่ใช้ลดหย่อนภาษีก่อนเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด จะถือว่า ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตไปแล้ว รวมถึงเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากร ผู้อำนวยการบริหารสมาคม ฯ กล่าวเพิ่มเติม