ไทยพาณิชย์ชี้ช่องธุรกิจปั๊มน้ำมันต่างจังหวัด ส่งไม้ต่อทายาท พลิกโมเดลธุรกิจสู่การเติบโตยั่งยืน

          ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งแรงบันดาลใจการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนแก่ธุรกิจครอบครัว จัด Bootcamp Next-Gen Business Leaders: การต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้สืบทอด กรณีศึกษาสถานีบริการน้ำมันซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านการบริหารสู่ทายาทรุ่น 2 แนะปรับรูปแบบกิจการสู่ธุรกิจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์นักเดินทางนอกเหนือจากธุรกิจปั๊มน้ำมัน พร้อมสนับสนุนเอสเอ็มอีดั้งเดิมเดินหน้าสู่ธุรกิจรักษ์โลกด้วยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เตรียมพร้อมส่งต่อกิจการสู่เจนเนอเรชั่นถัดไป

          ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่เพียงต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ กระทบยอดขายแต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตามพฤติกรรมผู้บริโภค และเทรนด์ธุรกิจโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นอีกความท้าทายสำคัญ ในการนำพาธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างยั่งยืน ส่งไม้ต่อกิจการไปยังทายาทธุรกิจรุ่นถัดไป

           นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า เอสเอ็มอีในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว แต่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ในรุ่นที่ 2 เพียง 30% และลดลงเหลือเพียง 12% ในรุ่นที่ 3 และ 3% ในรุ่นที่ 4 ด้วยเหตุดังกล่าวธนาคารไทยพาณิชย์จึงมุ่งมั่นสนับสนุนลูกค้าส่งต่อธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากกลุ่มธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน เนื่องจากพบว่าเป็นธุรกิจที่กำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปพร้อมกับการส่งต่อธุรกิจให้ทายาท

          ธนาคารจึงจัดสัมมนา Bootcamp Next-Gen Business Leaders: การต่อยอดธุรกิจสำหรับผู้สืบทอด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ การแชร์ไอเดียการต่อยอดธุรกิจ รวมถึงแนะนำเครื่องมือทางการตลาดรูปแบบใหม่ ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสานต่อกิจการจากรุ่นสู่รุ่น โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย นำผู้ประกอบการและทายาทธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน เข้าร่วมฟังการสัมมนาจำนวน 62 บริษัท

          “สถานีบริการน้ำมันเป็นธุรกิจที่ต้องปรับโมเดลธุรกิจสู่ Less Brown เพื่อเพิ่มยอดการเข้าใช้บริการในสถานีบริการให้มากขึ้น นอกเหนือจากธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และตอบโจทย์นักเดินทาง เช่น บริการนวด สปา รองรับลูกค้าที่มีระยะเวลารอคอยการชาร์จรถอีวีในสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรบริหารกิจการให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ปรับปรุงและขยายกิจการสู่ความยั่งยืน” นางพิกุล กล่าว

SCB พร้อมสนับสนุนเงินทุนเพื่อการปรับตัวธุรกิจ

          ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดเตรียม “สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน” เพื่อการปรับตัว ด้วยวงเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% 1 ปีแรก ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี เพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน, ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย และมลพิษ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถประหยัดพลังงานวงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี และวงเงินกู้หมุนเวียนในธุรกิจสูงสุด 50 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารพร้อมเสริมแกร่งให้เจ้าของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันด้วยวงเงินกู้สินเชื่อสำหรับสถานีบริการน้ำมันและร้านแฟรนไชส์ภายในสถานีบริการ นอกจากนี้ยังแนะนำบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตเพื่อธุรกิจ (Business Anywhere) เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง วงเงินหนังสือค้ำประกัน และช่วยเจ้าของกิจการลดต้นทุนด้วยการจ่ายเงินเดือนพนักงานผ่านบัญชี SCB Payroll ฟรีค่าธรรมเนียม และไม่มีจำนวนพนักงานขั้นต่ำ เป็นต้น

 

พึ่งไอเดียทายาทรุ่นใหม่สร้างจุดขายไลฟ์สไตล์ในปั๊มน้ำมัน

          นายพัฒนา ตั้งกิติกุล นายกสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโครงสร้างกำไรของสถานีบริการน้ำมันเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีรายได้จากการจำหน่ายเป็นน้ำมันเป็นหลัก ไปเป็นการสร้างกำไรจากธุรกิจเสริมมากขึ้น ขณะที่โครงสร้างธุรกิจเสริมภายในสถานีบริการน้ำมันเปลี่ยนไปเช่นกัน เช่น จากเดิมที่มีร้านเสื้อผ้า แต่ปัจจุบันเผชิญปัญหา เพราะคนหันไปใช้บริการออนไลน์แทน เมื่อสถานีบริการน้ำมันถูกสานต่อโดยคนอีกรุ่น จึงต้องอาศัยความคิดคนรุ่นใหม่ในการนำกลยุทธ์และไอเดียใหม่ๆ มาดึงดูดให้คนเข้าใช้บริการ โดยเน้นการนำจุดเด่นและความแตกต่างแต่ละพื้นที่เข้ามาผสมผสานการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของลูกค้าและนักเดินทางทั้งขาประจำและขาจร  สมาคมฯ จึงเห็นพ้องกับแนวทางของธนาคารไทยพาณิชย์ในการถ่ายทอดความสำเร็จของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เข้ามาบริหารสถานีบริการน้ำมัน ในงานสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันให้ยั่งยืน

เถ้าแก่ปั๊มน้ำมันและทายาท ประสานเสียง การปรับโมเดลธุรกิจคือทางรอดธุรกิจครอบครัว

          นายเฉลิมเกียรติ เป็นศิริ ผู้ก่อตั้งสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ลุงเท่งชะอำ จ. เพชรบุรี เล่าว่า ทำเลที่ตั้งของปั๊มน้ำมัน ปตท. ลุงเท่ง ชะอำ อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว จึงมีคู่แข่งจำนวนมาก เดิมเคยวิธีจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าใช้บริการ แต่พบว่ายิ่งลงทุนมากเท่าไร กำไรยิ่งน้อยลง จึงต้องกลับมาทบทวนกลยุทธ์ด้วยการทำธุรกิจเสริมในปั๊มน้ำมัน โดยดึงร้านค้าในชุมชนเข้าร่วมขายในปั๊ม และสร้างสรรค์ให้ทุกพื้นที่ในปั๊มเป็นทำเลค้าขาย เป็นแหล่งสินค้าของฝากสำหรับนักเดินทาง พบว่าสามารถผลักดันยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น 

          นายการันย์ พฤกษ์รังสี ผู้บริหารรุ่นสอง สถานีบริการน้ำมัน PTT กัลปพฤกษ์ จ. พังงา กล่าวว่า ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ก่อตั้งมา 40 ปี โดยผู้เป็นพ่อ ซึ่งความโชคดี คือ ทำเลที่ตั้งอยู่ในถนนเส้นหลักและติดกับแหล่งท่องเที่ยว แต่การทำการตลาดจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเนื่องจากจำนวนรถที่เข้ามาใช้บริการลดลง ยอดขายน้ำมันที่ลดลงยังเกิดจากพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนจากการใช้รถขนาดใหญ่มาเป็นรถขนาดเล็ก ทำให้ต้องมองหาธุรกิจเสริมด้วยการนำสินค้าที่เป็นแบรนด์ดังเข้ามาให้บริการลูกค้า และปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็น Food Truck อีกทั้งจัดทำห้องละหมาดและร้านอาหารภายในปั๊มน้ำมันต้องเป็นฮาลาล เพื่อรองรับลูกค้าหลักที่เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย

          ขณะที่กุญแจสำคัญที่ทำให้การสืบทอดกิจการประสบความสำเร็จ คือ การสื่อสารระหว่างคนในครอบครัวให้เห็นภาพและเข้าใจตรงกันถึงแนวคิดของการบริหารงานยุคนี้ ในช่วงแรกที่เข้ามาสานต่อกิจการ มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อพัฒนาปั๊มน้ำมันให้เป็นมากกว่าการขายน้ำมัน จนถึงปัจจุบัน ก็ได้พิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่า การปรับโมเดลธุรกิจสู่นอนออยล์มากขึ้นนั้น ทำให้รายได้ภายในปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับอดีต

          นายภูเบศร์ สมประสงค์ ผู้บริหารรุ่นสอง สมาชิกสถานีบริการน้ำมัน PTT อ. ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี กล่าวว่า ปั๊มน้ำมันแห่งนี้ตั้งอยู่ในถนนเส้นรอง ผู้ใช้บริการไม่มากเท่าถนนหลัก จึงต้องหาจุดเด่นเพื่อผลักดันยอดขาย จนมาพบว่าธุรกิจไก่ย่างส้มตำที่ดำเนินการโดยปั๊มน้ำมันแห่งนี้ สามารถพัฒนาไปสู่แบรนด์ได้ จึงสร้างแบรนด์ “แซ่บ สเตชั่น” ขึ้นมาให้เป็นที่จดจำของนักเดินทางและลูกค้าใกล้เคียงสามารถแวะมารับประทานอาหารได้บ่อยครั้ง

          อย่างไรก็ดี อุปสรรคของการทำแบรนด์ คือ ค่าใช้จ่าย และความคิดในการทำงานระหว่างรุ่นเขากับคนรุ่นพ่อที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญ คือ การหาจุดกึ่งกลางเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นระหว่างคนสองเจนเนเรชั่น และการรักษาแรงบันดาลใจ ไฟในการทำงาน เพื่อให้กิจการครอบครัวดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

Loading