สมาคมประกันชีวิตไทย จัดงานมอบรางวัล“ตัวแทนคุณภาพดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 41 ประจำปี 2567” หรือ 41st THAILAND NATIONAL QUALITY AWARDS (41st TNQA) เพื่อเชิดชูเกียรติตัวแทนประกันชีวิตที่มีคุณภาพดีเด่น สามารถผลิตผลงานได้ตามเกณฑ์ และมีความภักดีต่อองค์กรต้นสังกัด จำนวน 2,328 ราย ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย ในฐานะประธานจัดงาน มอบรางวัลตัวแทนคุณภาพดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 41 ประจำปี 2567 (THAILAND NATIONAL QUALITY AWARDS (41st TNQA) เปิดเผยว่า สมาคมประกันชีวิตไทยได้รับเกียรติจากนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มาเป็นประธานในการมอบรางวัล โดยมีผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. ร่วมเป็นเกียรติ และ นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวมีมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 41 โดยรางวัล“ตัวแทนคุณภาพดีเด่นแห่งชาติ” เป็นการเชิดชูเกียรติให้กับตัวแทนประกันชีวิตที่มีการยกระดับคุณภาพและพัฒนาความรู้และทักษะที่สำคัญในการทำงานเพื่อให้ผู้เอาประกันชีวิตได้รับการบริการที่ดี จนผ่านเกณฑ์การพิจารณาของสมาคมประกันชีวิตไทย ซึ่งประกอบด้วย ผลงานขายประกันชีวิตแบบรายบุคคลรายใหม่ ประเภทสามัญหรือประเภทอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่าปีละ 30 กรมธรรม์ จำนวนเงินเอาประกันภัยไม่ต่ำกว่าปีละสี่ล้านห้าแสนบาท 2 ปีต่อเนื่อง และกรมธรรม์ประกันชีวิตมี ผลบังคับ 14 เดือนหรือเกินกว่า โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ขายได้ในปีที่ 1 นั้น จะต้องมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ทั้งจำนวนรายและจำนวนเงินเอาประกันภัย และสำคัญที่สุดคือต้องมีความภักดีเป็นตัวแทนประกันชีวิตที่อยู่ในสังกัดของบริษัทเดียวกันตลอดเวลาของการคำนวณผลงาน
ซึ่งในปีนี้มีผู้ที่สามารถพิชิตรางวัลทั้งสิ้น 2,328 ราย จาก 15 บริษัทสมาชิก โดยรางวัลเกียรติยศสูงสุดคือ รางวัลโล่ตัวแทนคุณภาพดีเด่นกิตติคุณ 30 ปี พร้อมเกียรติบัตร จำนวน 1 ราย ได้แก่ “คุณมาลี อัตถาวรวิศาล บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)” รางวัลโล่ตัวแทนคุณภาพดีเด่นกิตติคุณ 25 ปี พร้อมเกียรติบัตร จำนวน 3 ราย รางวัลโล่ตัวแทนคุณภาพดีเด่นกิตติคุณ 20 ปี พร้อมเกียรติบัตร จำนวน 6 ราย รางวัลโล่ตัวแทนคุณภาพดีเด่นกิตติคุณ 15 ปี พร้อมเกียรติบัตร จำนวน 18 ราย รางวัลโล่ตัวแทนคุณภาพดีเด่นกิตติคุณ 10 ปี พร้อมเกียรติบัตร จำนวน 40 ราย รางวัลโล่เกียรติคุณพร้อมเกียรติบัตร จำนวน 68 ราย และรางวัลเกียรติบัตรจำนวน 2,192 ราย โดยมีตัวแทนประกันชีวิตที่มีผลงานผ่านเกณฑ์แยกรายบริษัทประกันชีวิต ดังนี้
1. บริษัท เอไอเอ จำกัด จำนวน 1,368 ราย
2. บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 197 ราย
3. บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 167 ราย
4. บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 150 ราย
5. บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 123 ราย
6. บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 81 ราย
7. บริษัท ชับบ์ ไลฟ์ แอสชัวรันซ์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 74 ราย
8. บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 68 ราย
9. บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 36 ราย
10. บริษัท โตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 25 ราย
11. บริษัท ซัมซุง ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 20 ราย
12. บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 11 ราย
13. บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 ราย
14. บริษัท ฟิลลิปประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 ราย
15. บริษัท เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 ราย
นายบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวแทนประกันชีวิตเปรียบเสมือนผู้แทนของบริษัท มีบทบาทสำคัญในการสร้างและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทประกันชีวิต ทั้งในเรื่องการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย จนกระทั่งลูกค้าเกิดความไว้วางใจ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวมถึง 633,445 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการเติบโตนี้มาจากช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตในสัดส่วนที่สูงถึง 54% และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพของตัวแทนประกันชีวิตทุกคน สมาคมประกันชีวิตไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตัวแทนประกันชีวิตที่ได้รับรางวัล อันทรงเกียรตินี้จะเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวแทนประกันชีวิตรุ่นใหม่ ๆ สามารถก้าวสู่เส้นทางสายอาชีพนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ สามารถเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้รู้จักวางแผนบริหารความเสี่ยง รับมือกับความไม่แน่นอน โดยใช้การประกันชีวิตเพื่อเป็นเกราะคุ้มภัยปกป้องความเสี่ยงใน ทุกจังหวะของชีวิตต่อไป