LiVE Platform โดยบริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จับมือพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เปิดโครงการ New S Curve to Capital Market นำความเชี่ยวชาญสนับสนุนผู้ประกอบการใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ Life Science, High Technology และ High Growth เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาธุรกิจ พร้อมโอกาสรับทุนสนับสนุนเพื่อการเติบโตเป็นธุรกิจที่มีคุณภาพพร้อมเข้าสู่ตลาดทุน มีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ เปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการวันนี้ – 26 เมษายน 2567
นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ภายใต้กลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการผ่าน LiVE Platform แพลตฟอร์มที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาธุรกิจให้เติบโต เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุนต่อไป โดยในปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจ New Economy ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจของประเทศให้โตได้อย่างก้าวกระโดด โดยมุ่งเป้าหมายที่ธุรกิจ 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ Life Science ธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ High Technology ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และ High Growth ธุรกิจที่มีศักยภาพการขยายตัวสูง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ TCELS NIA และ KPMG จัดโครงการ New S Curve to Capital Market หลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจมุ่งสู่ตลาดทุน
โครงการ New S Curve to Capital Market มุ่งพัฒนาความรู้และเทคนิคในการดำเนินธุรกิจ ทักษะการบริหารจัดการ และเตรียมความพร้อมเพื่อการเติบโตและระดมทุนในรูปแบบต่างๆ โครงการเปิดรับจำนวน 60 บริษัทร่วมพัฒนาศักยภาพ ผ่านการ Workshop, Coaching และ One-on-One Coaching ตลอด 4 เดือน (กรกฎาคม–ตุลาคม 2567) โดยผู้ประกอบการมีโอกาสรับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) สูงสุดบริษัทละ 1 ล้านบาท รวมถึงทุนสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ ด้วย โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่โครงการกำหนด
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า บทบาทสำคัญของ NIA คือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ การผสานความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นประตูสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในภาควิทยาศาสตร์ วิจัย และเทคโนโลยี ซึ่งเป็น New Economy ของประเทศมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาโมเดลธุรกิจให้แข็งแกร่ง เตรียมระบบงานให้มีความพร้อม สร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การระดมทุนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและขยายผลสู่เศรษฐกิจและสังคมไทย
นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กล่าวว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ หรือ Life Science มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น TCELS จึงรับหน้าที่สำคัญในระดับประเทศเพื่อสนับสนุน ขับเคลื่อน และยกระดับนวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริการในอุตสาหกรรม Life Sciences รวมทั้ง ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา เสริมสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยให้สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคมได้อย่างรวดเร็ว TCELS จึงได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็น New Economy ของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความแข็งแกร่งในการแข่งขัน ตลอดจนสนับสนุนการสร้างเงินทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า เคพีเอ็มจี มีความพร้อมและมีทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาในการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวางแผนธุรกิจและการแข่งขัน ตลอดจนช่วยเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ โดยเคพีเอ็มจีให้ความสำคัญในด้านกลยุทธ์องค์กร กลยุทธ์ด้านการดำเนินงาน กลยุทธ์ด้านการเงิน กลยุทธ์ด้านบุคลากร รวมถึงการจัดทำแผนธุรกิจ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับแนวทางในการสร้างความเติบโตทางธุรกิจตลอดจนการก้าวสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต