บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดทำโครงการ eisa (Education Institute Support Activity) ร่วมกับนิสิตชุมนุม SIFE (Students in Free Enterprise) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับความร่วมมือจาก โครงชุมชนดีมีรอยยิ้ม บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ,บริษัท เบียร์ไทย 1981 จำกัด (มหาชน) และ บริษัท น้ำตาลทิพย์ กำแพงเพชร จำกัด ได้ลงพื้นที่ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มพริกแกงบ้านบึงหล่ม หมู่ที่ 10 ตำบล ถาวรวัฒนา อำเภอ ทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร ในความร่วมมือการพัฒนาช่องทางตลาด การสร้างแบรนด์สินค้าแปรรูปภายใต้แบรนด์เดียวของชุมชน การพัฒนาแพ็กเกจจิ้งและพัฒนาสถานที่ทำพริกแกงให้มีความเหมาะสม อาทิ การพัฒนาการตลาด เพื่อการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยทางคณะอาจารย์และนิสิต ได้ดำเนินการวางแผนการทำงาน โดยนิสิตร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน
ขณะที่ ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มีภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรและการทำมาหากินในด้านอาหารและโภชนาการ ในปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรรมและใช้บ้านของตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมอาชีพ เช่น การทำพริกแกง การทำโคกหนองนาโมเดล การทำปลาร้าแปรรูป การทำแหนมหมู เป็นต้น โดยได้เปิดใจถึงการนำองค์ความรู้ การปรับปรุงสินค้าเดิมให้สอดคล้องกับยุคสมัยของน้อง ๆ นิสิตจุฬาฯ ว่า “ในฐานะผู้นำชุมชน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่ทุกฝ่าย ทั้ง โครงการ eisa และ SIFE จุฬาลงกรณ์ ที่ได้เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนพริกแกงบ้านบึงหล่มของเรา ซึ่งชุมชนของเราเองรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นน้อง ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์พริกแกงบ้านบึงหล่มให้ดีขึ้น เรามีการการพัฒนาโลโก้ร่วมกันกับน้อง ๆ การทำระบบบัญชีของชุมชน พร้อมทั้งช่วยพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นกว่าเดิม เพื่อความยั่งยืนของชุมชนต่อไป”
ด้าน ผศ.ดร.นราพงศ์ ศรีวิศาล รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับโครงการ SIFE (Students in Free Enterprise) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นเลยคือเราได้รับการสนับสนุนจากโครงการ eisa (Education Institute Support Activity) จากไทยเบฟเวอเรจ ในการช่วยเราคัดกรองชุมชน ก่อนที่นิสิตฯ จะมีการลงพื้นที่ในการทำกิจกรรม ซึ่งในครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 22 โดยแต่ละโปรเจ็กต์ใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งจะมีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และมีจำนวนของนิสิตนักศึกษาประมาณ 20 คน เพื่อในทุกคนมีส่วนร่วมในการลงมือทำจริงและได้เรียนรู้อย่างแท้จริง โดยโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์พริกแกงบ้านบึงหล่ม ครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 เป็นการนำเสนอข้อมูลโครงการทั้งในเรื่องของโลโก้ การทำบัญชี การทำการตลาดออนไลน์ และการหาต้นทุนของการผลิตที่แท้จริง เพื่อกำหนดราคาให้ครอบคลุมในเรื่องของต้นทุนผลิตภัณฑ์ โดยครั้งนี้นิสิต ได้มีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อนำไปประมวลผล และนำเสนอในการลงพื้นที่ในครั้งต่อไป
ทางด้าน ไกร สาตรักษ์ ประธานชุมนุม SIFE คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับชุมนุม SIFE เราเป็นชุมนุมคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นชุมนุมที่นิสิต ได้นำความรู้ที่เรียนในห้องเรียนเพื่อมาประยุกต์ใช้ร่วมกับชุมชน เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งหลังจากที่ชุมนุม SIFE ออกมาจากชุมชนแล้ว ชุมชนต้องสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ตลอดระยะเวลาของการลงพื้นที่ของชุมนุม SIFE ได้ช่วยเหลือชุมชนมาแล้วกว่า 13 ชุมชน ใน 13 จังหวัด โดยในปีนี้ มีการลงพื้นที่ใน 3 จังหวัด ประกอบไปด้วย 1.จังหวัดนครนายก เป็นการเข้าไปยกระดับพัฒนาการกลุ่มปลาร้าแปรรูป 2.จังหวัดพะเยา ได้มีการเข้าไปพัฒนาต่อยอดในเรื่องของผ้าทอไทย ยกระดับให้ไปสู่ตลาดสากล และ 3.จังหวัดกำแพงเพชร เป็นการร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนายกระดับกลุ่มพริกแกงบ้านบึงหล่ม ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาชุมนุม SIFE ได้มีการลงพื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเข้าไปพัฒนาชุมชนประมงพื้นบ้าน “ร้านคนทะเล” โดยมีการรีแบรนด์ร้านใหม่ ทำโลโก้ใหม่ และพัฒนาการขายในทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งชุมชนสามารถเข้าถึงตลาดและต่อยอดการขายผลิตภัณฑ์จากธุรกิจประมงพื้นบ้านได้อย่างยั่งยืน
ในขณะที่ เมิ่ง เจ๋อ อู๋ Project Operator โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มพริกแกงบ้านบึงหล่ม กล่าวว่า วันนี้พวกเราได้ลงพื้นที่ชุมชนเป็นครั้งที่ 2 ได้นำผลงานมานำเสนอให้กับชุมชนพริกแกงบ้านบึงหล่ม ทั้งในเรื่องของโลโก้ และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อไปปรับแก้โครงการต่อไปในครั้งต่อไป โดยในตอนนี้ เรามีการวางแผนในเรื่องของการพัฒนาโลโก้ แพ็กเกจจิ้ง และช่องทางการขายออนไลน์ สำหรับการลงพื้นที่ Work Shop กับชุมชน ในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งทีมีความกังวลคือจะทำอย่างไรให้เราสามารถเข้าถึงชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยเราเลือกใช้วิธีในการเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชน เพื่อการพัฒนาและการเติบโตร่วมกันกับชุมชน ทำให้การทำงานร่วมกับชุมชนนั้นง่ายและประสบความสำเร็จได้ไวขึ้น
ทั้งนี้ ชุมนุม SIFE ‘Students in Free Enterprise’ เป็นองค์กรอิสระก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1975 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก SIFE สนับสนุนมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกให้จัดตั้งทีมนักศึกษาขึ้นเพื่อพัฒนาธุรกิจในชุมชน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลการทำโครงการอย่างใกล้ชิด SIFE จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการ 5 ประการคือ 1.เศรษฐศาสตร์การตลาด (Market Economics)2.ทักษะแห่งความสำเร็จ (Success Skills) 3.ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) 4.ความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน (Financial Literacy) และ 5.จริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics)
อย่างไรก็ตาม โครงการ SIFE ได้ให้นักศึกษาประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะของนักศึกษาในการช่วยพัฒนาธุรกิจของชุมชน ซึ่งการที่นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริงกับธุรกิจเป็นจุดเด่นของโครงการ SIFE คำกล่าวที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าลงมือทำ” น่าจะอธิบายตัวโครงการ SIFE ได้เป็นอย่างดี ในการจัดทำโครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนให้ประสบความสำเร็จ SIFE มีพัฒนาการเพิ่มขึ้นทั้งทางด้านวิชาการและสังคม นิสิตสามารถคิดและวางแผนการทางานได้อย่างเป็นระบบ มีความมั่นใจในตนเองสูงขึ้น และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับการเรียนที่เรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวแล้ว การนำนิสิตนักศึกษาออกไปทำโครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนให้ผลเป็นที่น่าพอใจและมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะการเรียนในห้องเรียนนั้น นักศึกษาจะรู้เฉพาะทฤษฎีหรือหลักการต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากไม่ได้นำไปใช้ปฏิบัติงานจริงความรู้ที่เล่าเรียนไปอาจลบเลือนได้