นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการการเตรียมความพร้อมสู่วัยทำงานด้วยการประกันภัย OIC Be Smart First Jobber ปีที่ 2 ณ ไรส์ อินโนเวชั่น ฮับ (Rise Innovation Hub) อาคารเกษรทาวเวอร์ ถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กับกลุ่มเป้าหมายนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา บัณฑิต และผู้เข้าสู่ตลาดแรงงาน (First Jobber) เพื่อให้สามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการเงินและความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในด้านเส้นทางสายอาชีพการประกันภัยของนิสิตนักศึกษาที่สามารถใช้บริหารจัดการความเสี่ยงได้จริง และส่งผลลัพธ์ต่อเนื่องไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรม ซึ่งจะทำให้การประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในการบริหารความเสี่ยงอย่างแท้จริงและยั่งยืนในระยะยาว
โครงการ OIC Be Smart First Jobber ปีที่ 2 มีความแตกต่างและพิเศษเพิ่มขึ้นจากโครงการในปีที่แล้ว โดยดำเนินการภายใต้แนวคิด Insure Experience เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ความน่าสนใจ และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมจากนิสิตนักศึกษา โดยผ่าน 5 กิจกรรมหลัก ๆ คือ กิจกรรมแรก การระดมสมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในรูปแบบ mini exhibition เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ First Jobber รวมทั้งการรับของที่ระลึกในรูปแบบกล่องสุ่ม เพื่อสะท้อนรูปแบบความเสี่ยงที่สามารถเผชิญได้ในทุกเวลาของชีวิต กิจกรรมที่ 2 การปรับเปลี่ยนจากการพูดคุยกับผู้นำทางความคิด โดยจัดในรูปแบบมินิคอนเสิร์ตให้ผู้ร่วมงานได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำทางความคิด ได้แก่ คุณทัศนัย กิตติรุ่งสุวรรณ (เต๋า) ผู้เข้าแข่งขันในรายการ The Voice และ The Voice All Stars กิจกรรมที่ 3 การบรรยายในหัวข้อ Explore the Future : Mastering Risk Management in Life การบริหารความเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ในชีวิต โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ เนตยานันท์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญโดยตรงในด้านการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยในรูปแบบการบรรยายที่สนุก เข้าใจง่าย และเน้นการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษา กิจกรรมที่ 4 การเสวนา InsureXperience & Career Path Talk “ประสบการณ์เส้นทางสายอาชีพประกันภัย” โดยวิทยากรจากสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งต้องขอบคุณสมาคมทุก ๆ สมาคมในภาคอุตสาหกรรมประกันภัย รวมถึงวิทยากรจากสำนักงาน คปภ. และวิทยากรจากภาคธุรกิจ และกิจกรรมที่ 5 การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ OIC Creative Workshop โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัษฎางค์ พลนอก อดีตผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่จะจำลองรูปแบบธุรกิจ การเผชิญและบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงการประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ ให้นิสิตนักศึกษาได้ร่วมวางแผนและแก้ปัญหาในรูปแบบเสมือนจริง พร้อมการถอดบทเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจรวมทั้งทัศนคติที่ดีต่อระบบการประกันภัย
โดยในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ขยายกิจกรรมไปยังสถาบันการศึกษาในภูมิภาคเพิ่มเติม จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ครั้งที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และครั้งที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเพื่อเป็นการต่อยอดเพิ่มเติมจากการจัดกิจกรรมในสถานศึกษา จึงได้จัดให้มีการประกวดนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงระบบการประกันภัย สำหรับรูปแบบและเงื่อนไขประกอบด้วย 1. นวัตกรรมที่นำเสนอจะต้องสามารถตอบคำถามสำคัญคือ “ส่งเสริมความรู้อย่างไรให้คนไทยเข้าถึงระบบการประกันภัยมากขึ้น” โดยผู้ส่งผลงานอาจนำเสนอนวัตกรรมที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตนักศึกษาผู้เริ่มต้นทำงาน (First Jobber) หรือประชาชนทั่วไปก็ได้ 2. ผู้เข้าแข่งขันสามารถส่งผลงานในรูปแบบบุคคลหรือกลุ่มบุคคล และผู้ส่งผลงานทุกรายจะต้องเป็นนิสิตนักศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น 3. รูปแบบผลงานการประกวดในรอบคัดเลือกคือการจัดทำงานนำเสนอ ความยาวไม่เกิน 5 ภาพ หรือสไลด์ เพื่อบอกเล่าถึงนวัตกรรมดังกล่าวในเชิงกรอบแนวคิดหรือ conceptual idea โดยส่งผลงานได้ที่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ firstjobber@oic.or.th ภายในเวลา 23.59 น. ของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานส่งเสริมการประกันภัย สำนักงาน คปภ. โทร 02 515 3999 ต่อ 3313
ทั้งนี้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จะดำเนินการตัดสินผลงาน เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุดจำนวน 6 ผลงาน โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนผลงานจากรูปแบบและเนื้อหามีการนําเสนอที่น่าสนใจ เข้าใจง่ายและชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 20 ความคิดสร้างสรรค์ในการนําเสนอและการนำไปใช้ได้จริง (ความสดใหม่โดดเด่น ไม่ซ้ำกับผลงานอื่น ๆ)
คิดเป็นร้อยละ 30 และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อการประกวด คิดเป็นร้อยละ 50
โดยผู้ผ่านการเข้ารอบชิงชนะเลิศทั้ง 6 ผลงาน จะเข้ามานำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้นำทางความคิดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 และสำนักงาน คปภ. ได้จัดให้มี online coaching เพื่อให้น้อง ๆ นิสิตนักศึกษาสามารถปรับปรุงและพัฒนาผลงานจากรอบคัดเลือกให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่ชัดเจนและสามารถนำไปดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติ โดยมีระยะเวลา 10 นาที ในการนำเสนอและตอบข้อซักถามจากคณะกรรมการ
สำหรับรางวัลที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะได้รับ คือ รางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล จะได้รับรางวัลเงินสด 50,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับรางวัลเงินสด 25,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับรางวัลเงินสด 10,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร รางวัลชมเชย 3 รางวัล จะได้รับรางวัลเงินสดรางวัลละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร