กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซขายสินค้าไทย
ในฟิลิปปินส์ หลังตลาดมีแนวโน้มเติบโตสูงเหตุรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ส่งเสริมกระเป๋าเงินดิจิทัล-กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทำให้คนหันมาซื้อขายออนไลน์กันมากขึ้น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.จันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ถึงโอกาสในการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย เพื่อขายสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ตามการขยายตัวของการซื้อขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น
อย่างต่อเนื่องทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสของไทยว่า ปัจจุบันแม้ฟิลิปปินส์จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ยังคงเป็นสังคมที่ใช้เงินสดเป็นหลักโดยมีข้อมูลจากธนาคารว่าผู้ใหญ่มากกว่า 51 ล้านคนยังไม่มีบัญชีธนาคารหรือคิดเป็น 71% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด แต่รัฐบาลได้ริเริ่มโครงการต่างๆด้านเทคโนโลยีอีคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มีการเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการชำระเงินทางมือถือและทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และผู้ประกอบการเองก็มีการปรับรูปแบบการชำระเงินทั้งการเก็บเงินสดปลายทาง การรับชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย
สำหรับการขยายตลาดสินค้าในฟิลิปปินส์ผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ให้การยอมรับระบบการเก็บเงินสดปลายทางสูงสุดสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด การให้บริการเก็บเงินปลายทางในฟิลิปปินส์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้ค้าอีคอมเมิร์ซและผู้ค้ารายใหม่ในฟิลิปปินส์มักจะเสนอช่องทางการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง และมีแนวโน้มที่จะเสนอรูปแบบการเก็บเงินปลายทางให้กับลูกค้าด้วยนโยบายการรับประกันคืนเงิน เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจและสร้างความภักดีของผู้บริโภคซึ่งผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าสู่ตลาดก็ควรศึกษารูปแบบนี้ไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวฟิลิปปินส์เริ่มหันมายอมรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แม้ว่าจะช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังพยายามปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้การชำระเงินแบบดิจิทัลบรรลุ 50% ของการชำระเงินทั้งหมดภายในสิ้นปี 2566 และจะนำประชากรผู้ใหญ่ 70% เข้าสู่ระบบการเงินโดยรัฐบาลได้เริ่มใช้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจสำหรับผู้ค้าที่ใช้การชำระเงินแบบดิจิทัลแล้ว และรัฐบาลยังสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นผ่านเงินช่วยเหลือและผู้ที่เต็มใจนำเทคโนโลยีการชำระเงินดังกล่าวมาใช้อาจได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีหรือการยกเว้นภาษี รวมทั้งยังมีการกำหนดให้ธนาคารสร้างมาตรฐานรหัส QR สำหรับการชำระเงิน เพื่อกระตุ้นให้มีการชำระเงินผ่านรหัส QR มากขึ้น
“การเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ผ่านช่องทางออนไลน์จะต้องคำนึงถึงความท้าทายในปัจจุบันและในอนาคตเพราะชาวฟิลิปปินส์ยังคุ้นเคยกับระบบการชำระเงินปลายทางที่เป็นตัวเลือกมากกว่าช่องทางอื่น ซึ่งก็มีความเสี่ยงและโอกาสถูกฉ้อโกงหรือการปฏิเสธรับสินค้า และมีต้นทุนในการรับคืนสินค้ารวมทั้งปัญหาด้านโลจิสติกส์ที่อาจใช้เวลาถึงหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่าที่สินค้าจะส่งไปถึงหลังจากการทำธุรกรรม แต่แม้จะมีปัญหาเพราะเป็นช่วงเริ่มต้น เชื่อว่าในอนาคตจะมีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะขยายตลาดอีคอมเมิร์ซในฟิลิปปินส์ ควรทำงานร่วมกับบุคคลที่ 3 ที่เข้าใจตลาดอย่างใกล้ชิด และมีความสามารถในการรับตัวเลือกการชำระเงิน
ที่หลากหลาย
รวมถึงเงินสดก็จะช่วยให้ผู้ค้าอีคอมเมิร์ซประสบความสำเร็จและเปิดโอกาสทางธุรกิจในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น”นายภูสิตกล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169