คคบ. ลงดาบผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิผู้บริโภค เรียกเงินคืนกว่าหนึ่งล้านหกแสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยเก้าสิบสามบาทถ้วน

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา นาคาศัย ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ 4/2566 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร จากการประชุม ได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 3 เรื่อง  (จะซื้อจะขายห้องชุด และปรับปรุงบ้าน) และดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 14 เรื่อง (เช่าซื้อรถยนต์ สมัครเข้าค่ายฝึกอาชีพ ซื้อบริการเสริมความงาม ซื้อทัวร์เกาหลี ซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซื้อแพ็กเกจทรีตเมนต์ ซื้อคอร์สบริการ Active Beauty ศัลยกรรมเสริมความงาม ซื้อรายการนำเที่ยว จองรถยนต์ใช้แล้ว บริการซ่อมเครื่องอบผ้า สั่งซื้อประตูไม้สัก สั่งซื้อลู่วิ่ง สั่งซื้อบ้านแมว) รายละเอียด ดังนี้

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 3 เรื่อง

  1. 1. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง อาคาร A ในราคา 3,100,000 บาท ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงห้องชุด เป็นอาคาร C คงเหลือราคา 1,491,000 บาท

ผู้บริโภคได้ชำระเงินไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 496,000 บาท ต่อมาบริษัทฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนเจ้าของโครงการรายใหม่ และแจ้งว่าราคาห้องชุดมีการปรับราคาสูงขึ้นกว่า 1,491,000 บาท และไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภค เมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้บริโภคได้จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน 496,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

  1. 2. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้รับจ้างในฐานะเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ให้ปรับปรุงบ้าน โดยไม่มีสัญญาว่าจ้าง และได้ชำระเงินไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 179,920 บาท ต่อมาผู้รับจ้าง ไม่ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญา ดำเนินการไม่แล้วเสร็จและทิ้งงานไป ผู้บริโภคได้ทวงถามให้ไปดำเนินการตลอดมาแต่ไม่เข้ามาดำเนินการให้แล้วเสร็จ โดยผู้รับจ้างตกลงรับว่าจะคืนเงินในส่วนงานฉาบภายในและภายนอกที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้  โดยหักค่าดำเนินการทั้งสิ้นจำนวน 10,815 บาท คงเหลือเงินที่จะคืนแก่ผู้บริโภคจำนวน 56,685 บาท เมื่อไม่คืนเงินจึงเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน 56,685 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
  1. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง ราคา 1,865,877 บาท ได้ชำระเงินจอง 5,000 บาท เงินทำสัญญา 155,000 บาท และเงินดาวน์จำนวน 403,200 บาท รวมเป็นเงินที่ชำระไปทั้งหมดจำนวน 443,200 บาท ต่อมาบริษัทฯ มีหนังสือแจ้งขอขยายเวลาโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 เป็นเหตุให้แผนการดำเนินการก่อสร้างล่าช้า และพบว่าบริษัทฯ ยังไม่ได้มีการเริ่มก่อสร้างโครงการจึงคาดหมายได้ว่า บริษัทฯ จะไม่สามารถก่อสร้างห้องชุดให้เสร็จ

ได้ตามสัญญา ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอยกเลิกสัญญาและขอเงินที่ได้ชำระไปแล้วคืน  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน 443,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการ รวมจำนวน 14 เรื่อง

  1. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ กับบริษัทแห่งหนึ่ง กำหนด

ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อจำนวน 48 งวด งวดละ 8,962 บาท ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทฯ ดังกล่าวไปแล้วรวมเป็นค่าเช่าซื้อ 430,176 บาท และค่างวดที่ 44 ถึงงวดที่ 48 (งวดสุดท้าย) จำนวน 44,810 บาท ผู้บริโภคได้ชำระเงินให้แก่บริษัทฯ ไปทั้งสิ้น จำนวน 459,209 บาท ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อจะต้องชำระ 430,176 บาท ถือว่าผู้บริโภคชำระเงินเกินกว่าสัญญา จำนวน 29,333 บาท และจากใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 5 เมษายน 2564 ระบุว่าชำระค่างวด 45 ถึง 48 (ปิดบัญชี) เป็นจำนวนเงิน 11,776 บาท อีกทั้งผู้บริโภคได้ชำระค่าเช่าซื้อให้บริษัทฯ ครบถ้วนแล้วตั้งแต่งวดที่ 44-48 จำนวน 5 งวด เป็นเงิน 44,810 บาทถือว่าผู้บริโภคได้ชำระเงินค่างวดเกินกว่าที่สัญญากำหนด จำนวน 11,776 บาท บริษัทฯ จึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว เมื่อบริษัทฯ ไม่จดทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อผู้บริโภค ไม่ส่งมอบสมุดคู่มือจดทะเบียน ไม่ชำระเบี้ยปรับวันละ 198.82 บาท และไม่คืนเงินค่างวดที่ผู้บริโภคชำระเกินกว่าที่สัญญากำหนด จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้ผู้ประกอบการ จดทะเบียนรถยนต์ให้เป็นชื่อของผู้บริโภค พร้อมส่งมอบสมุดคู่มือจดทะเบียน หากไม่ดำเนินการขอให้ใช้ คำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และให้ชำระเบี้ยปรับวันละ 198.82  บาท ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์ให้เป็นชื่อของผู้บริโภค และให้คืนเงินค่างวดที่ชำระไป จำนวน 11,776 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

  1. กรณีผู้บริโภคได้สมัครเข้าร่วมค่าย Dc Master เพื่อฝึกอาชีพให้แก่บุตรชาย กับบริษัทแห่งหนึ่ง จำนวน 2 อาชีพ เป็นเงินจำนวน 24,000 บาท โดยมีกำหนดฝึกอาชีพ Graphic Designer

ในเดือนมีนาคม 2563 และอาชีพ Animator ในเดือนตุลาคม 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์การ

แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 จึงไม่สามารถจัดกิจกรรมทั้ง 2 อาชีพได้ตามสัญญา แต่เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวได้ทุเลาลง และสามารถกลับมาดำเนินการจัดค่ายฝึกอาชีพได้ตามปกติ บริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา ปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไปเกินกว่า 14 เดือน ผู้บริโภคจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้คืนเงินให้จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนิน

คดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 24,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

  1. กรณีผู้บริโภคซื้อบริการเสริมความงามกับบริษัทแห่งหนึ่ง ราคา 120,000 บาทโดยเป็นคอร์สคีเฟอร์ (ถอดผิวกาย) จำนวน 2 ครั้ง ผู้บริโภคใช้บริการจำนวน 1 ครั้ง เหลืออีกจำนวน  1 ครั้ง และทรีตเมนต์แอนนา 30 ครั้ง ผู้บริโภคใช้บริการจำนวน 1 ครั้ง เหลือจำนวน 29 ครั้ง ทรีตเมนต์คลีโอโกลด์ จำนวน 30 ครั้ง โดยมีระยะเวลาเข้าใช้บริการจำนวน 3 ปี ต่อมาผู้บริโภคเข้ารับบริการถอดผิวกายคีเฟอร์ ในขณะที่ใช้มือจับของอ่างอาบน้ำปรากฏว่ามือจับของอ่างอาบน้ำหลุด ทำให้เหล็กที่เกี่ยวมือจับขูดแขนบริเวณข้อศอกจนถึงกระดูกอ่อนและเป็นรอยแผลเป็น ผู้บริโภคไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเหตุการณ์ดังกล่าว อีกทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 ทำให้บริษัทฯ ต้องปิดกิจการที่สาขาสาทร ซึ่งผู้บริโภคไม่สะดวกใช้บริการที่สาขาอื่น จึงมีความประสงค์ขอยกเลิกสัญญาและให้บริษัทฯ คืนเงินเต็มจำนวน มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภคตามสัดส่วนที่ยังไม่ได้ให้บริการเป็นเงิน จำนวน 116,128 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
  1. กรณีผู้บริโภคกรมการท่องเที่ยวได้ส่งเรื่องร้องทุกข์ของผู้บริโภคจำนวนหลายรายกรณี ซื้อรายการนำเที่ยว “เกาหลี ซุปตาร์…ซากุระ ซุปปี้ดูววว 5 วัน 3 คืน” กับบริษัทแห่งหนี่ง ราคา 16,888 บาท เดินทางระหว่างวันที่ 19 – 23 เมษายน 2563 แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 ผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาได้ จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับชำระไว้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งหมด เมื่อบริษัทฯ เพิกเฉยไม่ดำเนินการคืนเงินให้จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค 16,888 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร
  1. กรณีผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ราคา 200,000 บาท กับบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งผู้บริโภคพยายามปฏิเสธหลายครั้ง แต่พนักงานบริษัทฯ นำบัตรเครดิตของผู้บริโภคไปใช้ ซึ่งในใบเสร็จไม่ได้ระบุชื่อผู้บริโภคและไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบเสร็จ ประกอบกับผู้บริโภคไม่ได้นำสินค้ากลับ  จึงเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นธรรม  และผลิตภัณฑ์มีราคาสูงจนเกินไปจึงมีความประสงค์ขอยกเลิกสัญญาและขอให้คืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด ซี่งได้มีการทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความ เป็นเหตุทำให้ข้อเรียกร้องที่เคยมีต่อกันต่างระงับสิ้นไป ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคได้โทรศัพท์ติดต่อมายัง สคบ. แจ้งว่าบริษัทฯ ไม่ชำระเงินงวดแรก จำนวน 60,000 บาท ตามกำหนดที่ระบุไว้ จึงเป็นการผิดนัดตั้งแต่งวดแรก จึงรับฟังได้ว่าบริษัทฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
  1. ซื้อบริการแพ็กเกจทรีตเมนต์ จำนวน 36 ครั้ง กับสถานเสริมความงามแห่งหนึ่งในราคา 13,000 บาท และซื้อบริการแพ็กเกจมาร์คหน้าทองคำ ราคา 6,900 บาท โดยใช้บริการแล้วบางส่วนรวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 32,900 บาท ต่อมาผู้บริโภคประสงค์จะเข้าใช้บริการแต่ไม่สามารถติดต่อคลินิกได้เนื่องจากคลินิกย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่  เมื่อสถานเสริมความงามได้รับเงินค่าบริการจากผู้บริโภคครบถ้วนแต่ไม่สามารถให้บริการตามสัญญา จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิผู้บริโภค  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 13,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร
  1. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อคอร์สบริการ Active Beauty กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยประสงค์ ใช้บริการที่สาขาเดอะมอลล์ ท่าพระ ในราคา 6,000 บาท สามารถเข้าใช้บริการได้ จำนวน 10 ครั้ง ผู้บริโภคเข้าใช้บริการแล้ว 1 ครั้ง และคงเหลือใช้บริการ จำนวน 9 ครั้ง ต่อมาสาขาดังกล่าวปิดกิจการจึงแจ้งขอยกเลิกสัญญาและขอให้บริษัทฯ คืนเงินในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ  เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินค่าบริการครบถ้วน  แต่ภายหลังไม่สามารถให้บริการได้ตามสัญญา  จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 5,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร
  1. กรณีผู้บริโภคจำนวน 2 ราย ได้แจ้งว่าพบโฆษณาของสถานเสริมความงาม ดำเนินการโดยบริษัทแห่งหนึ่ง  โดยผู้บริโภคทั้ง 2 ราย ได้เข้ารับบริการศัลยกรรมเสริมความงามจมูก  ต่อมาพบว่า จมูกเบี้ยว ซิลิโคนเอียงจนเห็นได้อย่างชัดเจน จึงแจ้งไปยังสถานเสริมความงามฯ โดยแพทย์ฯ แจ้งว่าไม่เบี้ยวแต่ยังมีอาการบวม ให้รอไปก่อน ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ให้คลินิกฯ รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามคำโฆษณาอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาบริการศัลยกรรมเสริมความงาม รวมถึงแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม กระทำการผ่าตัดศัลยกรรมจมูกตามสัญญา โดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพ โดยทั่วไปแล้วต้องมีวิสัยและพฤติการณ์ ที่ต้องมีความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณี มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่

ผู้ประกอบธุรกิจ และแพทย์ผู้ทำการรักษา เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน ให้คืนเงินและชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาศัลยกรรมเสริมความงามแก่ผู้บริโภคจำนวน 2 ราย รวมเป็นเงิน 146,026 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

  1. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อรายการนำเที่ยวกับบริษัทแห่งหนึ่ง จำนวน 2 คน ชำระเงินมัดจำ 50% เป็นเงินจำนวน 24,900 บาท แต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ Covid-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ จึงขอยกเลิกการเดินทาง และประสงค์ขอเงินที่ชำระทั้งหมดคืน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่สามารถให้บริการตามสัญญา เพราะเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จึงต้องคืนเงินมัดจำที่ได้รับชำระไว้ให้แก่ผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค เป็นเงินจำนวน 24,900 บาท  พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร
  2. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจองรถยนต์ใช้แล้ว ยี่ห้อ อีซูซุ รุ่น MU 7 กับบริษัทแห่งหนึ่ง ราคา 277,000 บาท ชำระเงินมัดจำด้วยการโอนเงินเข้าบัญชี จำนวน 20,000 บาท โดยผู้บริโภคตรวจสอบรถยนต์ พบว่าต้องดำเนินการซ่อมหลายรายการ ซึ่งบริษัทฯ รับจะดำเนินการแก้ไขให้ ต่อมาวันรับมอบรถยนต์ผู้บริโภคได้ตรวจสอบรถยนต์อีกครั้งปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องควันขาวให้ได้ตามที่ตกลง จึงไม่ขอรับรถยนต์คันดังกล่าว และขอให้คืนเงินจอง จำนวน 20,000 บาท แต่ถูกปฏิเสธ ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค จึงขอความเป็นธรรม มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ พร้อมด้วยกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เพื่อบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
  3. กรณีผู้บริโภคทำสัญญาบริการซ่อมเครื่องอบผ้าผ่านแอปพลิเคชันไลน์ VP ศูนย์ซ่อมเครื่องซักผ้า โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร จำนวน 3,200 บาท ซึ่งใบเสร็จรับเงิน ระบุข้อความว่า “รับประกันค่าบริการ+ค่าอะไหล่ 3 เดือน ภายหลังเครื่องอบผ้าไม่สามารถใช้การได้ จึงติดต่อเพจให้เข้ามาแก้ไขความชำรุดบกพร่อง แต่ได้รับการปฏิเสธ การที่ศูนย์ซ่อมเครื่องซักผ้าปฏิเสธไม่ดำเนินการแก้ไขให้กับผู้บริโภคตามที่ระบุไว้ในสัญญารับประกัน จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 3,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
  4. กรณีผู้บริโภคสั่งซื้อประตูไม้สักพร้อมติดตั้ง ได้แก่ ประตูไม้สักบานคู่ 1 ชุด ประตูไม้สักบานเดี่ยว 4 ชุด กับบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นจำนวนเงิน 140,000 บาท และชำระเงินมัดจำ 70,000 บาท ต่อมาเมื่อถึงกำหนดติดตั้งประตู ผู้บริโภคต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ เพื่อให้บริษัทฯ ใช้ติดตั้ง และในวันดังกล่าวบริษัทฯ จะชำระเงินคืน จำนวน 8,700 บาท ปรากฏว่า บริษัทฯ นำประตูชำรุดบกพร่องส่งมอบให้ ถือเป็นการละเลยไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามความประสงค์แห่งมูลหนี้ บริษัทฯ จึงตกเป็นผู้ผิดสัญญา จึงต้องคืนเงินมัดจำที่รับไว้ให้กับผู้บริโภค การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
  1. กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อลู่วิ่ง ยี่ห้อ AMURO รุ่น T700 ผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีการจดทะเบียนนิติบุคคลในนามบริษัทแห่งหนี่ง จำนวน 11,990 บาท โดยผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต 0% นาน 6 เดือน บริษัทฯ  ได้จัดส่งสินค้าให้เมื่อตรวจสอบพบว่ามีน้ำมันหล่อลื่นแตกจากกระปุก ทำให้เลอะตัวเครื่องและสายพานลู่วิ่ง จึงติดต่อบริษัทฯ เพื่อเปลี่ยนสินค้าใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธ เมื่อผู้บริโภคได้พบความชำรุดบกพร่องดังกล่าว บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการเปลี่ยนสินค้าให้ แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการเปลี่ยนสินค้าและแจ้งให้ผู้บริโภค

ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดเท่านั้น  ผู้บริโภคจึงได้ร้องทุกข์ต่อ สคบ. และแสดงเจตนาในการยกเลิกสัญญา

และขอเงินคืน จำนวน 11,990 บาท โดยบริษัทฯ ชี้แจงว่ายินดีรับคืนสินค้า แต่ให้ผู้บริโภคนำสินค้าไปส่งคืน ณ โกดังสินค้าของบริษัทฯ หากตรวจสอบพบว่าสินค้าอยู่ในสภาพปกติ บริษัทฯ จึงจะคืนเงินให้ หรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ ทั้งนี้ ผู้บริโภคจะต้องส่งสินค้าคืนในสภาพที่ปกติและรับผิดชอบค่าส่งสินค้าคืน รวมถึงรับผิดชอบค่าธรรมเนียมการชำระค่าสินค้า ในรูปแบบของบัตรเครดิตเป็นเงินจำนวน 800 บาท ซึ่งการดำเนินการของบริษัทฯ เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคในการขอเงินคืนหรือการเปลี่ยนสินค้าและแสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อการส่งมอบสินค้าไม่สมบูรณ์ตามสัญญา กรณีนี้จึงถือว่าบริษัทฯ กระทำการผิดสัญญาอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค

มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 11,190 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

  1. กรณีผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าบ้านแมว จำนวน 1 หลัง ราคา 26,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชันอินสตาแกรม จัดจำหน่ายโดยร้านค้าแห่งหนึ่ง ได้โอนเงินค่ามัดจำสินค้าผ่านระบบ internet banking ต่อมาได้รับสินค้าและตรวจสอบพบว่า สินค้ามีความไม่เรียบร้อยตามที่โฆษณา กล่าวคือชนิดของไม้และคุณภาพ

ของงาน รวมถึงรูปแบบที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง ผู้บริโภคจึงได้ติดต่อไปยังร้านค้าฯ เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหา แต่ได้รับการปฎิเสธและแจ้งว่าได้ส่งมอบสินค้าตามที่สั่งซื้อและคุณภาพของร้านค้าฯ เรียบร้อยแล้ว หากให้ร้านค้าฯ แก้ไข ต้องชำระเงินเพิ่ม ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอเงินค่ามัดจำคืน มติที่ประชุม เห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน 13,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

            ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 4/2566 ได้มีการดำเนิน คดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน 17 ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,671,893 บาท (หนึ่งล้านหกแสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยเก้าสิบสามบาทถ้วน) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น จากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร

Loading