กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., ว่าที่ พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย อาหารเสริมลดความอ้วนยี่ห้อ เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ผสมไซบูทรามีน ตรวจค้น 4 จุด จับกุมผู้ต้องหา 3 ราย ตรวจยึดของกลาง 17 รายการ รวมกว่า 7,000 กล่อง มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปัจจุบัน กระแสผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนักเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภค และเข้าถึงได้ง่ายอีกทั้งมีความหลากหลาย และอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ผลิตลักลอบผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) ไปในผลิตภัณฑ์ เมื่อรับประทานแล้ว อาจทำให้ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ในกรณีผู้มีโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีการเฝ้าระวังกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พบว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน ยี่ห้อ เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ผ่านแฟลตฟอร์ม Shopee, Lazada, TikTok และ Facebook เป็นจำนวนมาก โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อว่า เมื่อรับประทานแล้ว ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ และมีเครือข่ายตัวแทนผู้จำหน่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงได้สืบสวนจนทราบแหล่งผลิต แหล่งจัดจำหน่าย และตัวแทนรายใหญ่ พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในข้อหา “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า”
ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ร่วมกันนำหมายค้น เข้าทำการตรวจค้น สถานที่ผลิต ผู้จัดจำหน่าย(เจ้าของผลิตภัณฑ์) และเครือข่ายตัวแทนผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ ในพื้นที่ จ.ตาก, จ.สุโขทัย และพิษณุโลก จำนวน 4 จุด มีรายละเอียดดังนี้
1. บริษัท อินทารา เฮิร์บ จำกัด เลขที่ 652 หมู่ 2 ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก สถานที่ผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ซึ่งตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นพบไซบูทรามีนผสมอยู่ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ตลอดจนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่น ๆ รวม 7 รายการ จำนวน 6,850 กล่อง พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่ายหลายรายการ
2. บริษัท นิวควีน เนเจอร์ ฟูด จำกัด เลขที่ 958 หมู่ 3 ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ผู้จัดจำหน่ายขณะตรวจค้นพบ น.ส.ชนนิกา (สงวนนามสกุล) เจ้าของแบรนด์ เป็นผู้นำตรวจค้นและรับว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ตนเป็นเจ้าของแบรนด์ และได้สั่งผลิตจาก บริษัท อินทารา เฮิร์บ จำกัด จริง ตรวจค้นพบเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่ายหลายรายการ
3. ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ต.นาทุ่ง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่น ๆ รวม 3 รายการ โดยพบเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่ายหลายรายการ พร้อมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 2 ราย ได้แก่ 1. นางนุชจรีย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นแม่ทีมรายใหญ่และเป็นอินฟลูเอนเซอร์ใน TikTok ที่มียอดผู้ติดตามหลักแสนคน และ 2. นายภิรมย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี แฟนหนุ่มซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย และเปิดบัญชีสำหรับซื้อขายสินค้า
4. ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) รายใหญ่ในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก พบ น.ส.สุทธาทิพย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนรายใหญ่และเป็นอินฟลูเอนเซอร์ใน TikTok เป็นผู้นำตรวจค้น พร้อมตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่น ๆ รวม 7 รายการ ค้นพบเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่ายหลายรายการ
เบื้องต้นพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งหมด 3 ราย ได้แก่
1. นางนุชจรีย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี และ 2. นายภิรมย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี และ 3. น.ส.สุทธาทิพย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ฐาน “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า” โดยผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย รับว่าขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) จริง โดยรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอ็นคิว เอส ครอส (NQ S Cross) มาจำหน่ายโดยสั่งซื้อโดยตรงจากเจ้าของแบรนด์ ชื่อแจง หรือ จุ๊บแจง อยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จากนั้นมากระจายจำหน่ายให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ
โดยจากการสืบสวนขยายผลทราบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว เริ่มจากการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนัก ตระกูลนิวควีน โดยในช่วงแรกสินค้าขายไม่ดี จึงเริ่มมีการผสมสารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการสืบสวนขยายผลถึงแหล่งที่มาของสารไซบูทรามีนต่อไป
สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้ออื่น ๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึด จะได้ส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากตรวจพบสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด ฐาน “ผลิตซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้า” ฐาน “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้า” โทษตามมาตรา 149 วรรคสอง (1) ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท
2. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน “ผลิต/ จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวว่าปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลจนสามารถจับกุมผู้ค้าตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้จำนวนมาก
โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก. ปคบ. สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ผลิต ผู้จำหน่ายที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และแจ้งข่าวเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ทานแล้วลดน้ำหนักเห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างใช้ลดน้ำหนักเหล่านี้ มักพบว่ามีส่วนผสมของไซบูทรามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือกลุ่มยาแผนปัจจุบันที่ช่วยลดความอยากอาหาร ซึ่งผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้วยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาและอาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงขอย้ำว่า อย่าซื้อยาทางสื่อออนไลน์มารับประทานเองโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ การเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ควบคุมน้ำหนักควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น อาหารเสริม อาจมีผู้ประกอบการที่ลักลอบใส่สารไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคว่าสามารถช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผู้บริโภคไปหลงเชื่อโฆษณาหลอกลวงซื้อมารับประทาน แล้วได้รับผลข้างเคียงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะสุขภาพที่ดีต้องประกอบด้วยการรับประทานอาหารและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และขอเน้นย้ำว่าไซบูทรามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ผู้ที่ลักลอบนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา
“ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”