สมาคมประกันวินาศภัยไทย ส่งมอบธนาคารน้ำใต้ดินให้กับจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำในการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ รวม 2 อำเภอ จำนวน 4,018 บ่อ

สมาคมประกันวินาศภัยไทย พลิกฟื้นพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดร้อยเอ็ด สร้างต้นแบบการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และ ภัยน้ำท่วมให้กับชุมชน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563-2565 รวม 3 อำเภอ ได้แก่ หนองฮี สุวรรณภูมิ และเกษตรวิสัย รวม 4 ตำบล 66 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 216,527 ไร่ โดยได้จัดพิธีส่งมอบบ่อน้ำธนาคารน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ และ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จำนวน 4,018 บ่อ มูลค่า 39,417,000 บาท ให้กับจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชน และเป็นต้นแบบในการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่สมบูรณ์แบบเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนอื่น ๆ ของประเทศต่อไป โดยมีนายสนอง ดลประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เกียรติเป็นประธานในการรับมอบ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ณ บ่อน้ำบ้านหนองเบ็ญ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกับ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ โดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ได้ดำเนินการจัดทำโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องประสบกับภัยแล้งหรือน้ำท่วมซ้ำซาก ตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการเปลี่ยนให้พื้นที่ “ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็น ทุ่งกุลายิ้มได้” โดยการจัดทำโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ขึ้นในพื้นที่ตำบลดูกอึ่งและตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด หรือที่เรียกว่าโครงการ “หนองฮีโมเดล” ซึ่งถือเป็นโครงการแรกและเป็นต้นแบบการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งของไทย มีพื้นที่ดำเนินการรวม 30 หมู่บ้าน ประชากร 3,408 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 78,913 ไร่ ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและส่งมอบธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 3,095 บ่อ ให้กับจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ต่อยอดโครงการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 13 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 1,700 ไร่ ให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมกับจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้การจัดการน้ำครบวงจรด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน และเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงและพืชผลนอกฤดูกาลในภาคอีสาน” เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาและขยายผลวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ให้เกิดการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพต่อไป

จากนั้นในปี 2564 สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ขยายพื้นที่ในการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้มากขึ้น โดยได้จัดทำโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ในพื้นที่ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ใช้พื้นที่ในการดำเนินงานได้ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการฯ โดยการขุดบ่อตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดินขนาดต่าง ๆ รวมทั้งหมด 2,473 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 88,862 ไร่ รวม 21 หมู่บ้าน และต่อเนื่องมาในปี 2565 ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติมในตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 1,545 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่ 47,052 ไร่ รวม 13 หมู่บ้าน ซึ่งทั้ง 2 โครงการในพื้นที่อำเภอสุวรรณภูมิและอำเภอเกษตรวิสัย ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ดังนั้นเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย และ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ จึงได้จัดพิธีส่งมอบโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ในพื้นที่ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ และ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย ให้กับทางจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษาและขยายผลต่อยอดการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ตามระบบธนาคารน้ำใต้ดิน และมอบให้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชน ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ รวมถึงเป็นต้นแบบสำหรับภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนองค์กรที่มีความสนใจให้การสนับสนุน ได้ทำการขับเคลื่อน ขยายผล และต่อยอดแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเช่นนี้ไปใช้ในพื้นที่แห้งแล้งอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป

นายอานนท์ วังวสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ มีแนวคิดในการดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ประสบปัญหาทางการเกษตรเนื่องจากภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและภัยน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน โดยการได้ใช้แนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวคิดของธนาคารน้ำใต้ดิน และได้รับความกรุณาจากพระนิเทศศาสนคุณ หรือหลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ และประธานมูลนิธิสิริปัญโญ ได้อนุญาตให้สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ จัดทำโครงการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบของการพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยใช้องค์ความรู้ของท่านในการวางแผนตลอดจนดำเนินการขุดบ่อน้ำที่ถูกต้องตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน ภายใต้ชื่อ “โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน” และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำธนาคารน้ำใต้ดิน

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ดำเนินการโครงการฯ แล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น 3 อำเภอ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดร้อยเอ็ดทั้งหมด ได้แก่

1. อำเภอหนองฮี มีพื้นที่ดำเนินการ ณ ตำบลดูกอึ่งและตำบลเด่นราษฎร์ รวม 30 หมู่บ้านครอบคลุมพื้นที่ 78,913 ไร่ ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 3,095 บ่อ

2. อำเภอสุวรรณภูมิ มีพื้นที่ดำเนินการ ณ ตำบลสระคูและตำบลหินกอง (พื้นที่ มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้) รวม 23 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 90,562 ไร่ ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 2,486 บ่อ

3. อำเภอเกษตรวิสัย มีพื้นที่ดำเนินการ ณ ตำบลกู่กาสิงห์ รวม 13 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 47,052 ไร่ ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 1,545 บ่อ

ทั้งนี้ การดำเนินงานทั้งหมดครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของจังหวัดร้อยเอ็ดไปแล้วกว่า 216,527 ไร่ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนประกันภัยพืชผล รวมทั้งสิ้นกว่า 63 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอนี้ถือเป็นศูนย์กลางของทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งจะเชื่อมโยงกันตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดแหล่งน้ำใต้ดินที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่สามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำจากภัยแล้ง และสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ ตลอดจนสร้างความสมดุลและยั่งยืนของแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค รวมถึงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ช่วยให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งการจัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินนี้ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่มุ่งเป้าไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ที่สมาคมฯ ทุ่มเทเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้เติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยไปพร้อมกัน

Loading