เลขาธิการ คปภ. ผนึกกำลัง “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. ปลุกพลังนักบิดมอเตอร์ไซด์ทำประกันภัย พ.ร.บ.

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) และ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่นำร่อง
เพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืน” ภายใต้ชื่องาน “คปภ. ปลุกพลังนักบิด เปิดโลกใหม่ให้คุ้มครองด้วยประกันภัย พ.ร.บ.” (วันนี้) 13 กันยายน 2565 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือ ประกันภัย พ.ร.บ. ถือเป็นประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันทุกประเภทต้องจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อเป็นหลักประกันให้กับผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมถึงคนเดินเท้า ถ้ารถทำประกันภัย พ.ร.บ. นอกจากจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิดแล้ว ยังมีสิทธิได้รับความคุ้มครองสูงสุดตามกรมธรรม์ประกันภัย กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน

นอกจากนี้ จากสถิติที่ผ่านมาพบว่ามีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์เพียงร้อยละ 65 ของรถจักรยานยนต์จดทะเบียนสะสม ทำให้เมื่อเกิดเหตุจากรถที่ไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย และจากสถิติในปี 2564 มีผู้ประสบภัยจากรถที่มาขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จำนวน 9,112 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 180 ล้านบาท ซึ่งจากสถิติพบว่า 70% เป็นผู้ประสบภัยจากรถจักรยานยนต์ จากตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีรถที่อยู่นอกระบบการประกันภัย พ.ร.บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากเป็นผู้ที่ใช้รถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้น หากเป็นทั้งเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นออกไปใช้เองจะมีความผิดทั้ง 2 ข้อหา โดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจในการกำกับดูแล พัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็งมั่นคง และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย จึงได้จัดทำ “โครงการรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่นำร่อง เพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ. อย่างยั่งยืน” เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ให้กับพี่น้องประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัย พ.ร.บ. สำนักงาน คปภ. จึงผนึกกำลังกับกทม. เพื่อปลุกพลังผู้ขับขี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นแห่งแรก ซึ่งมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการสร้างกรุงเทพมหานคร ให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตสำหรับประชาชน รวมทั้งเป็นไปตามนโยบาย “ลดอุบัติเหตุให้เป็นศูนย์” (Zero Accident) ของกรุงเทพมหานครและรัฐบาล โดยมุ่งเน้นและส่งเสริมพี่น้องประชาชนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในกรุงเทพมหานครให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัย พ.ร.บ. เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และจากข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ณ 10 กันยายน 2565 พบว่า กรุงเทพมหานครมีประชาชนที่ได้รับอุบัติเหตุทางถนนสูง โดยมีผู้บาดเจ็บ 77,093 ราย เสียชีวิต 657 ราย คิดเป็นร้อยละ 89.50 ที่เกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ โดยที่มีสัดส่วนการทำประกันภัย พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์เพียง 70% ภายหลังจากการจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการที่กรุงเทพมหานครแล้ว สำนักงาน คปภ. จะเดินหน้ารุกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อจัดกิจกรรม Road Show และกิจกรรมรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับประชาชนผู้ใช้รถ สร้างการเข้าถึงประกันภัย พ.ร.บ. และการมีส่วนร่วมในการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายที่นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทาง

ด้าน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. เห็นด้วยกับแนวคิดของสำนักงาน คปภ. เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก และมีความจำเป็นต่อการเดินทางของคนกรุงเทพเป็นอย่างมาก แต่รถจักรยานยนต์ก็มีความเสี่ยง ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่ได้ทำประกันภัยก็จะกระทบกับชีวิตครอบครัว ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าผลกระทบที่จะได้รับหลังจากเกิดอุบัติเหตุจะมีค่าใช้จ่ายตามมาหากไม่ได้ทำประกันภัย พ.ร.บ.  ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สามารถเจาะผ่านผู้นำชุมชนให้ช่วยรณรงค์ภายในชุมชน หรือจะเป็นกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้าง กลุ่มไรเดอร์ GRAB  ซึ่ง กทม. สามารถช่วยรณรงค์ได้ทันที โดยเน้นให้ความร่วมมือรณรงค์ประชาสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเต็มที่ โดยรณรงค์เป็นแพ็กเกจ ทั้งเรื่องอุบัติเหตุในการขับขี่ การสวมหมวกนิรภัย และให้ทำประกันภัย พ.ร.บ. ควบคู่กันไปด้วย ในโอกาสนี้ กทม. ขอขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่มอบกรมธรรม์ พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ จำนวน 500 ฉบับ ให้แก่พนักงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของ กทม. ให้ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย และค่าใช้จ่ายในการทำประกันภัย พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ตกปีละกว่า 300 บาท หรือเก็บเงินวันละบาทเท่านั้น จำเป็นจะต้องสื่อสารในเรื่องนี้ไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น แต่จะต้องทำเป็นแพ็กเกจ ทั้งเรื่องการรณรงค์ทำประกันภัย พ.ร.บ. ควบคู่ไปกับการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย การรณรงค์ไม่ขับรถเร็ว การรณรงค์รักษากฎจราจร เป็นต้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ สำนักงาน คปภ. และกรุงเทพมหานคร จะต่อยอดการบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทั้งในการรณรงค์ให้ชาวกทม.ทำประกันภัย พ.ร.บ. และร่วมมือในการนำระบบประกันภัยมาช่วยบริหารความเสี่ยง ตลอดจนช่วยให้ชาวกทม. และบุคลากรในสังกัดกทม. สามารถเข้าถึงและได้รับความเป็นธรรมในเรื่องประกันภัยอย่างเต็มที่

“ทั้งนี้ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัย หรือต้องการข้อมูลด้านประกันภัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Loading