การนำส่วนของ กัญชา กัญชง และสารสกัด CBD มาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ให้เป็นไปตามประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถขอรับเลขสารบบอาหารได้ กรณีสถานที่ผลิตตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก อย. หากอยู่ต่างจังหวัดสอบถามได้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
นั้น ๆ
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการปลดล็อกกัญชา
กัญชง ซึ่งมีผลในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขานรับ
การปลดล็อกเพื่อให้กัญชาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างมีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่ยังคงไว้เพื่อความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันการนำส่วนของกัญชา กัญชง และสารสกัด CBD มาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 425) พ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้านรากและใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
และ (ฉบับที่ 429) พ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสารสกัดแคนนาบิไดออล โดยสามารถขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร เพื่อรับเลขสารบบอาหาร และต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐาน เงื่อนไขชนิดอาหาร ปริมาณ THC/CBD และแสดงคำเตือนเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ต้องดำเนินการยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารและเลขสารบบอาหาร โดยกรณีสถานที่ผลิตตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้จากกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือหากสถานที่ผลิตตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ให้ติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตามจังหวัดนั้น ๆ
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สถานประกอบการอาหารที่ปรุงเพื่อจำหน่ายภายในร้านอาหาร หรือสถานที่อื่น
ในลักษณะทำนองเดียวกัน รวมถึงการบริการจัดส่งอาหารให้กับผู้ซื้อ ไม่ต้องขออนุญาตกับ อย. แต่สถานประกอบการ ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ดังนี้ (1) แสดงข้อแนะนำ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร (2) แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชงในภาชนะบรรจุ ได้แก่ “เด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรี
ให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocanabionol ,THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Canabidiol, CBD) ควรระวัง
ในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล” สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตบรรจุในภาชนะบรรจุจากสถานประกอบอาหารที่ปรุงเพื่อจำหน่าย ขอความร่วมมือให้แสดงข้อความ “ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนของกัญชา/กัญชง” หรือ “สัญลักษณ์ที่สื่อถึงกัญชา/กัญชง”
หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกัน หรือมีการสื่อสารช่องทางแนะนำการบริโภคที่ถูกต้องตามประกาศฯของกรมอนามัยบนภาชนะบรรจุอาหาร