ในปัจจุบันมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับคนข้ามถนนหรือคนเดินเท้าบ่อยครั้ง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จากข้อมูล www.thairsc.com ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนกว่า 13,000 ราย มีผู้บาดเจ็บ จำนวนกว่า 880,000 คน พบว่ามีคนเดินเท้าเสียชีวิต จำนวน 850 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.30 และบาดเจ็บ จำนวน 14,287 คน คิดเป็นร้อยละ 1.62
จากข้อมูลยังพบว่าผู้เสียชีวิตอยู่ในช่วงวัยทำงานมากที่สุด จำนวน 379 ราย โดยช่วงเวลาเกิดเหตุ ที่ทำให้คนเดินเท้าเสียชีวิตมากที่สุดคือช่วงเวลา 19.00 น.
สาเหตุที่ทำให้คนเดินเท้าประสบอุบัติเหตุมาจากผู้ขับขี่ประมาท ขับรถเร็ว รวมถึงการออกแบบทางข้ามที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพถนน ทัศนวิสัยไม่เอื้อต่อการใช้ถนนของคนเดินเท้า และการบังคับใช้กฎหมายจราจรไม่เพียงพอ และที่สำคัญ การขับรถในเขตชุมชนและเขตที่มีคนเดินเท้าหนาแน่น ไม่ควรขับขี่รถด้วยความเร็ว ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อที่ผู้ขับขี่จะสามารถหยุดรถได้ทัน หากเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่าหากเกิดการชนที่ความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คนเดินเท้าจะมีโอกาสรอดชีวิตถึง 90% และสำหรับคนเดินเท้า ก็ควรเดินให้ชิดทางด้านขวามือ จะได้เห็นรถที่วิ่งสวนมาเพื่อความปลอดภัย ที่สำคัญถ้ามีทางสำหรับคนเดินเท้า ก็อย่าเดินบนถนนเด็ดขาด ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยทั้ง ผู้ขับขี่และคนเดินเท้าเอง
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ความคุ้มครองทุกคนที่ประสบภัยจากรถ รวมถึงผู้ประสบภัยที่เป็นคนเดินเท้า หากรถที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุนั้นมีการทำประกันภัยภาคบังคับหรือประกันภัย พ.ร.บ. โดยกฎหมายได้กำหนดให้เจ้าของรถทุกคันต้องจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อเป็นหลักประกัน หากเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้เสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครอง 500,000 บาท ผู้บาดเจ็บจะได้ความคุ้มครองเป็นค่ารักษาพยาบาลตามความเสียหายที่แท้จริงสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน หากผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ถูกรถไม่มีประกับภัย พ.ร.บ. ทำให้เสียชีวิต ทายาทของผู้ประสบภัยหรือผู้บาดเจ็บจะต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ขับขี่รถคันที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุเอง
ดังนั้นการทำประกันภัย พ.ร.บ.จึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่เจ้าของรถทุกคนต้องปฎิบัติตามกฎหมาย เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นผู้ประสบภัยจากรถทุกคนก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
ผู้ประสบภัยจากรถสามารถติดต่อใช้สิทธิได้ที่บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถของตนเองหรือที่บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด มีสาขาให้บริการทุกจังหวัดทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่บริษัทกลางฯ Call Center 1791 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.rvp.co.th