บมจ.โกลบอล คอนซูเมอร์ เดินหน้าเตรียมความพร้อมลุยตลาดอาหารผสมกัญชงเต็มรูปแบบ ล่าสุดลงนาม MOU ผนึก ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี ร่วมวิจัยพัฒนายกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชงสู่สากล ด้วยเทคโนโลยี-ห้องแล็บที่ทันสมัย ภายใต้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากคอร์เนล สหรัฐอเมริกา หลังคว้าไลเซ่นส์สกัดน้ำมัน-ผลิตอาหารจากกัญชงรายแรกของกลุ่มอาหารในประเทศ หัวเรือใหญ่ “หลุยส์ เตชะอุบล” ส่งซิกเปิดกว้างเจรจาพันธมิตรรายใหม่ๆร่วมพัฒนาโปรดักส์ สยายปีกต่อจิ๊กซอว์การเติบโตสู่ Sustainable Food ตั้งเป้าปี 2565 พลิกกำไร ยอดขายแตะ 3,000 ล้านบาท
นางสาวหลุยส์ เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON ผู้นำการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารและบรรจุภัณฑ์ เปิดเผยว่า บริษัทฯเดินหน้าเตรียมความพร้อมลุยตลาดอาหารผสมกัญชงอย่างเต็มรูปแบบ ล่าสุดได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับนายโรเบิร์ต เทร็ลล์ ประธาน บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและสกัดสาร CBD จากกัญชง ร่วมวิจัยพัฒนาอาหารผสมกัญชง ด้วยเทคโนโลยีและห้องแล็บที่ทันสมัย ภายใต้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับมาตรฐานสู่สากล
หลังจากก่อนหน้าบริษัทฯได้รับใบอนุญาตสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Hemp Seed Oil) พร้อมใบอนุญาตผลิตอาหารประเภทอาหารควบคุมเฉพาะ ได้แก่ เมล็ดกัญชง, น้ำมันจากเมล็ดกัญชง, โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง, น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง (เฉพาะน้ำมันจากเมล็ดกัญชง) ที่ขึ้นทะเบียนอาหารไว้อย่างเป็นทางการ
นางสาวหลุยส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯยังคงเปิดกว้างในการหาพันธมิตรรายใหม่ๆ เพื่อผนึกความร่วมมือศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอาหารจากโปรตีนพืช (Plant Based Food) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับผลิตภัณฑ์ รองรับกระแสคนรักสุขภาพ
(Healthy) ซึ่งเป็นตลาดที่มีมาร์จิ้นสูง และมีแนวโน้มอัตราการเติบโตโดดเด่นและยั่งยืน ต่อยอดการเติบโตสู่ Sustainable Food โดยเบื้องต้นบริษัทฯตั้งเป้าภาพรวมการเติบโตปี 2565 พลิกกำไร ยอดขายแตะ 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บมจ. โกลบอล คอนซูเมอร์ แบ่งธุรกิจเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. ธุรกิจอาหารแปรรูปแช่แข็ง, อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน และผลไม้อบแห้ง สัดส่วน 61% ของรายได้ทั้งหมด, 2. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทต่างๆ สัดส่วน 32% ของรายได้ทั้งหมด, 3. ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม สัดส่วน 4% ของรายได้ทั้งหมด และ 4. ธุรกิจเทรดดิ้ง สัดส่วน 3% ของรายได้ทั้งหมด