เทศกาลปีใหม่และคริสต์มาส หลาย ๆ คน คงเตรียมตัววางแผนท่องเที่ยวและเฉลิมฉลองกันนะครับ เนื่องจากเป็นวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน แต่อย่าเพลิดเพลินจนลืมดูแลสุขภาพตัวเองกันนะครับ โดยเฉพาะโรคยอดฮิตในช่วงนี้ คือ โรคโควิด-19 รวมทั้งภาวะ โรคอ้วน โรคหัวใจ มิฉะนั้นแล้ว หลังเทศกาลผ่านไป สารพัดโรค อาจแวะมาเยี่ยมเยียนท่านได้ และพบว่าคนส่วนใหญ่นั้น น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 2-3 กิโลกรัม หลังเทศกาลกันเลยทีเดียว การปาร์ตี้ ถ้าเป็นไปแบบพอดี มีระยะที่เหมาะสม เดินทางสายกลาง ก็จะมีผลดีกับสุขภาพหัวใจ สุขภาพร่างกายโดยรวม ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยไม่ให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและระบบหัวใจและหลอดเลือด
หลักการง่าย ๆ คือ ลดปริมาณแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) ให้น้อยลง เพิ่มรับประทานผัก ผลไม้ที่หวานน้อย มีกากใยเยอะ โฮลเกรน ธัญพืช ที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อยหรือไม่ขัดสี เน้นน้ำมันจากพืช เช่น มะกอก คาโนลา ถั่วเหลือง ข้าวโพด ทานตะวัน ฯลฯ
เลือกเนื้อสัตว์ที่ไขมันต่ำ เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เนื้อปลา เนื้อหมูไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงน้ำหวาน
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบนึงได้ เรียกว่า “Holiday Heart Syndrome” คือ หัวใจเต้นผิดจังหวะ แบบ AF (Atrial fibrillation) จะเต้นเร็วและแรงผิดปกติ ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอกได้ หากรักษาไม่ทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะการเกิดลิ่มเลือด ทำให้สมองขาดเลือด หรือ Stroke ได้
หลีกเลี่ยงของทอด กะทิ ขนมหวาน เน้นอาหารประเภทต้มหรือนึ่ง
แบ่งจาน เป็น 4 ส่วน 2 ส่วน เน้นผักและอาหารเส้นใย
1 ส่วน เน้นโปรตีน
1 ส่วน เน้น ข้าว แป้ง
และไม่ควรบริโภค น้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา / วัน เกลือไม่ควร เกิน 1 ช้อนชา / วัน หลีกเลี่ยงผลไม้กระป๋อง แนะนำผลไม้สดตามฤดูกาล เช่น แอปเปิ้ล แก้วมังกร องุ่น และอีกหนึ่งเคล็ดลับ ที่สำคัญ คือ รับประทานให้อิ่มประมาณ 80 % ก็พอ
อย่าลืมการออกกำลังกาย แบบแอโรบิก อย่างน้อย 3-5 วัน / สัปดาห์ ครั้งละ 20 – 30 นาที นอกจากจะได้สุขภาพหัวใจที่ดีแล้ว ยังช่วยเผาผลาญแคลลอรี่ได้ดีด้วย
ที่สำคัญคือรักษาระยะห่าง ( Social Distancing) และใส่หน้ากากอนามัยเป็นกิจวัตร พร้อมทั้งล้างมือบ่อย ๆ ก็เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันโรคที่ดีครับ
หลักสำคัญในการไปงานปาร์ตี้ ช่วงโควิด 19
-พบปะกลุ่มน้อย ในช่วงระยะเวลาที่สั้นลง
-มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือ ที่กลางแจ้ง
-ผลัดกันรับประทาน ควรทานอาหารแบบจานเดียว
-หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกัน
-หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยรถสาธารณะ (ถ้าไม่จำเป็น) ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้รถสาธารณะหรือพื้นที่สาธารณะร่วมกันหลายคน ควรใส่หน้ากากอนามัย และมีแอลกอฮอล์เจล ล้างมือบ่อย ๆ นะครับ
-การ์ดอย่าตก
เปลี่ยนการกินก่อนตาย เพราะโรคร้ายจากการตามใจปาก
สิ่งที่ไม่ควรทาน
หวานจัด
มันจัด
เค็มจัด
ทอด ๆ ผัด ๆ
ผลไม้รสหวาน
สุดยอดอาหารที่ควรทานทุกวัย
ผักใบเขียว
ปลา ถั่ว
ธัญพืชโฮลเกรน
เครื่องเทศและสมุนไพร
น้ำสะอาด
การ์ดอย่าตก จงจำไว้ Social Distancing
โดย : น.ต.นพ.ชยุต ชีวะพฤกษ์
แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์หัวใจ รพ. พญาไท นวมินทร์