บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ร่วมถอดรหัสพระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) 17 ข้อ ในโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 13” 9 มหามงคล ตามรอยพ่อ ศึกษาเรียนรู้ป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว สู่วิถีพอเพียง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยได้รับเกียรติจากนางปิณฑิรา เก่งการพานิช นายอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมทางด้านการศึกษา มาตั้งแต่ปี 2561 โดยการนำคณะครูอาจารย์จากทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 300 คนจากกว่า 170 สถาบัน ร่วมโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ในรูปแบบ Edutainment เพราะทุกที่คือการเรียนรู้ ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ผสมผสานการท่องเที่ยววิถีชุมชน
รวมถึงกิจกรรมเวิร์กชอป ผ่านนวัตกรรมบอร์ดเกมที่จะทำให้คณะครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สามารถนำไปสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้วิถีใหม่ในสถาบันการศึกษา ชุมชน และครอบครัวได้ด้วยตนเอง เพื่อเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
โดยกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 13” 9 มหามงคล ตามรอยพ่อ ศึกษาเรียนรู้ป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว สู่วิถีพอเพียง ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งครั้งสำคัญในการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกของประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดขึ้นเพื่อพลิกฟื้นผืนแผ่นดิน ซึ่งมีสภาพป่าหาย น้ำแห้ง ดินเลว ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอาหาร และวัตถุอินทรีย์จากพืช เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม ศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ทางการเกษตรให้เป็นศูนย์ด้านเกษตรกรรมที่สมบูรณ์ด้วยวิธีการเกษตรแผนใหม่ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาที่ดิน การวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต และเป็นศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ ถือเป็นต้นแบบแนวทางและตัวอย่างการพัฒนาให้แก่พื้นที่อื่นได้อย่างยั่งยืน ศูนย์แห่งนี้ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประจำปี 2545 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประจำปี 2547 รางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ทั้งนี้ คณะยังได้เข้าเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ ๙ มหามงคล ได้แก่ 1.โรงสีข้าวพระราชทาน 2.สวนป่าสมุนไพร 3.ต้นศรีมหาโพธิ์ 4.ศาลาเทิดพระเกียรติ 5.อ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก 6.เกษตรทฤษฎีใหม่ 7.พลับพลาพระราม 8.หญ้าแฝก 9.พระตำหนัก 3 จั่ว
จุดเด่นที่สำคัญภายใต้การดำเนินชีวิตวิถีใหม่ จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่สวนพฤกษศาสตร์เขาหินซ้อน ศูนย์การเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชสมุนไพรตามรอยศาสตร์พระราชา เป็นสวนสมุนไพรแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และได้จัดตั้งเป็นสวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก ปลูกพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ รวมกว่า 1,000 ชนิด เพื่อดูแลงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นเราจะได้เรียนรู้ในวิธีการปลูกและวิธีการใช้ในการดูแลรักษาโรค เช่น ฟ้าทะลายโจร
นอกจากนี้ กิจกรรมสำคัญในการตามรอยพระราชาทุกครั้งคือ การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ ‘King Bhumibol Adulyadej of Thailand’ จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี
วัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยจึงรักและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม”
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 13” เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อกระตุ้นให้สถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อมและดำเนินการปรับปรุงสถานประกอบการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ (New normal) เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควบคู่กับมาตรการด้านสุขอนามัย