สถานการณ์ปัจจุบันกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด คดีความผิดเกี่ยวกับฉ้อโกงประชาชน คดีการค้ามนุษย์ และคดีอาญาอื่นที่เป็นความผิดมูลฐาน ผู้กระทำผิด จะมีการปกปิดอำพรางตัวตน แหล่งที่มาของเงิน-ทรัพย์สิน ที่ได้จากการกระทำความผิด เชื่อมโยงไปยัง เครือข่ายองค์กรอาชญากรรม จากผลการดำเนินคดีพิเศษที่ผ่านมา กลุ่มบุคคลผู้กระทำความผิด จะใช้บัญชีเงินฝากธนาคารของผู้อื่น ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ รับโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิด อันเป็นการตัดตอนการกระทำความผิด
ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ รองผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า กลุ่มองค์กรอาชญากรรม จะมีการแบ่งงานกันทำตามความสามารถ หรือ สถานะ โดยมีกลุ่มที่ทำหน้าที่จัดหาบัญชีเงินฝากธนาคาร ได้ใช้วิธีการชักชวนและรับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคาร จากบุคคลทั่วไปที่มีรายได้น้อย หรือ มีความเดือดร้อนทางการเงิน โดยใช้วิธีการชักชวนผ่านทางสื่อโซเซียลในรูปแบบต่าง ๆ และติดต่อโดยตรงจากบุคคลที่รู้จัก ให้ไปทำการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารผูกกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ทำธุรกรรมโอนเงินรับโอนเงิน ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมกับบัตรเอทีเอ็ม รวมทั้งใช้ในการฝากเงิน หรือ ถอนเงินผ่านตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ (ตู้เอทีเอ็ม) โดยจะรับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็ม ในราคาหลักพันถึงหลักหมื่นบาท จากนั้นจะมีการรวบรวมบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อมซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ ส่งไปให้ผู้กระทำผิดนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรม เพื่อทำธุรกรรมโอนเงินรับโอนเงินจากการกระทำความผิด ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวจึงสร้างความเสียหายทั้งต่อผู้คนในสังคม และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงยากต่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
ร.ต.อ.ทินวุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดอาญาที่เป็นคดีพิเศษ หรือ คดีความผิดมูลฐานขึ้น จะมีขั้นตอนการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของบุคคล เครือข่าย หรือ กลุ่มองค์กรอาชญากรรมดังกล่าว ซึ่งหากพบว่า มีเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดใด ก็จะมีขั้นตอนการยับยั้งการทำธุรกรรมโดยการยึด หรือ อายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หากเป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร หน่วยงานจะมีหนังสือแจ้งรายชื่อบัญชีเงินฝากไปยังธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน เพื่อทำการอายัดบัญชีเงินฝากดังกล่าว จากนั้นจะมีหนังสือเชิญ หรือ มีหมายเรียกเพื่อให้เจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร เข้ามาชี้แจงแหล่งที่มาของเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น โดยส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าว มักจะกล่าวอ้างว่า ตนเองรับจ้างเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยได้รับค่าจ้างในราคาหลักพันบาท ถึงหลักหมื่นบาท โดยไม่รู้ หรือ ไม่ทราบว่าบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิด และไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารได้ ดังนั้น เจ้าของบัญชีดังกล่าว อาจถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกัน หรือ สนับสนุนช่วยเหลือการกระทำความผิดอาญาในฐานนั้น อีกทั้งเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าว จะถูกยึด อายัด หรือ ตกเป็นของกลางในคดีไปด้วย
ทั้งนี้ หากพบว่ามีเจตนาเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อใช้ในการกระทำความผิด โดยรู้ว่าบัญชีเงินฝากธนาคาร จะถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดมูลฐาน อาจถูกแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือ ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกยึด หรือ อายัด จะถูกแจ้งไปยังธนาคาร โดยจะปรากฏข้อมูลเจ้าของบัญชีเงินฝาก และยังถูกแจ้งชื่อไปยังสถาบันการเงิน (Customer Due Diligence: CDD) โดยถูกจัดเป็นข้อมูลบุคคลเฝ้าระวัง (Watch list) เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องถูกตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินส่งผลต่อการทำธุรกรรมของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือ บุคคลในครอบครัว โดยอาจถูกสถาบันทางการเงินปฏิเสธการทำธุรกรรมไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารได้ และไม่สามารถเปิดใช้บัตรเครดิตต่าง ๆ รวมทั้งอาจไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้
ทั้งนี้ จึงเห็นได้ว่าหากถูกดำเนินการดังกล่าว ขอให้ผู้ที่คิดจะรับจ้างเปิดบัญชี หรือ ขายบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งส่วนใหญ่มีเจตนานำไปใช้ในการกระทำความผิดนั้น ทบทวนให้ดีว่า ผลที่ได้รับตามมานั้น ไม่คุ้มค่าเลย กับเงินที่ได้รับมาเพียงหลักพัน หรือ หลักหมื่นบาท เพื่อแลกกับการถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย อีกทั้งต้องเสียเวลา เสียค่าเดินทาง เสียค่าที่พัก ค่าธรรมเนียมศาล และเสียโอกาสในการประกอบอาชีพด้วย อาจถูกจัดให้เป็นบุคคลเฝ้าระวังจากสถาบันการเงิน ท้ายที่สุดอาจเสียอนาคต เพราะตกเป็นผู้ต้องหามีประวัติอาชญากรติดตัวอีกด้วย