นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีบุคคลบางกลุ่มแอบอ้างตนเป็นที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของบริษัทประกันชีวิต โทรศัพท์ไปหาประชาชน เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการถือครองกรมธรรม์ประกันภัย มีการสอบถามและขอข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย โดยอ้างว่าจะทำการเปรียบเทียบและดูผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่าให้ และเมื่อผู้เอาประกันภัยหลงเชื่อให้ข้อมูล ผู้แอบอ้างจะทำการเปรียบเทียบข้อมูลและแนะนำให้ผู้เอาประกันภัยยกเลิกหรือหยุดชำระเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ฉบับเดิม เพื่อทำสัญญาประกันชีวิตฉบับใหม่ ที่ตนเองจะนำเสนอขาย โดยอ้างว่าจะได้รับผลประโยชน์สูงขึ้น
ในการนี้ สมาคมประกันชีวิตไทยขอชี้แจงว่า ที่ผ่านมาบริษัทประกันชีวิตไม่เคยมีนโยบายหรือมอบหมายให้บุคคลกลุ่มใดชักชวนให้ประชาชนยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยแต่อย่างใด เพราะการกระทำดังกล่าว อาจทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียสิทธิ์ของกรมธรรม์และผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เสียสิทธิเรื่องการลดหย่อนภาษีของผู้มีเงินได้ด้วยเบี้ยประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป (ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท) เบี้ยประกันสุขภาพ (ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาทและเมื่อรวมกับส่วนเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท) หรือเบี้ยประกันชีวิตของแบบประกันบำนาญ (ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาทหลังจากลดหย่อนส่วนเบี้ยประกันชีวิตครบ 100,000 บาทแรกแล้ว หรือต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี) รวมถึงการที่ผู้เอาประกันภัยต้องดำเนินการแถลงข้อความจริงเกี่ยวกับสุขภาพต่อบริษัทใหม่ซึ่งมีความเสี่ยงที่ถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธการรับประกันภัยหรือต้องจำยอมจ่ายเบี้ยประกันภัยในระดับที่สูงขึ้น เพราะ ปัญหาสุขภาพที่มากขึ้น และ ระดับอายุที่สูงขึ้น รวมถึงบริษัทประกันภัยมีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายเคลมหรือผลประโยชน์ในกรณีที่เกิดอยู่ในช่วงระยะเวลารอคอย (Waiting period) หรือ ระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง ตั้งแต่ 30-120 วันนับจากวันที่กรมธรรม์มีผลบังคับ ซึ่งแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกันภัย นอกจากนี้ในกรณีถ้าหลงเชื่อทำการยกเลิกกรมธรรม์โดยเฉพาะประเภทสะสมทรัพย์ก่อนครบกำหนดสัญญา ผู้เอาประกันภัยอาจเสียสิทธิ์ได้ระดับผลตอบแทนที่มีการันตีผลตอบแทนหรือมีเงินคืนรายปี เพราะอัตราผลตอบแทนของกรมธรรม์ประเภทสะสมทรัพย์ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนของกรมธรรม์ประเภทสะสมทรัพย์ในอดีต ที่สำคัญการยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบกำหนดสัญญาที่กล่าวข้างต้นนั้นทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับมูลค่าเวนคืนเงินสดซึ่งน้อยกว่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยจ่ายผ่านมาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีแรกๆ ของกรมธรรม์ เพราะบริษัทประกันภัยจะต้องหักค่าใช้จ่ายในการพิจารณากรมธรรม์ประกันภัยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ
ดังนั้น หากบุคคลบางกลุ่มที่แอบอ้างตนเป็นที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของบริษัทประกันชีวิต รวมถึงตัวแทนหรือนายหน้าของบริษัทประกันภัยใดที่เชิญชวนให้ผู้เอาประกันภัยยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์ครบกำหนดสัญญา ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักจรรยาบรรณและศีลธรรมของตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิต ผู้กระทำการดังกล่าวจะต้องได้รับบทลงโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต
ทั้งนี้บุคคลที่จะสามารถทำการเสนอขายประกันภัยจะต้องมีใบอนุญาตที่ออกโดยสำนักงาน คปภ. และทุกครั้งที่ทำการเสนอขายไม่ว่าแบบพบหน้าหรือสนทนาผ่านทางโทรศัพท์ บุคคลคนนั้นจะต้องแสดงใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือนายหน้าประกันชีวิต แจ้งชื่อบริษัทประกันที่ตนสังกัด พร้อมทั้งแจ้งแหล่งที่มาของข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ว่าได้มาอย่างไร ซึ่งหากพบว่าการได้มาซึ่งข้อมูลนั้นไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลจะถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและถือว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออก และเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและการดำเนินการของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2563 ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
หากผู้เอาประกันภัยพบว่าได้รับการติดต่อจากบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าว เบื้องต้นขอให้ผู้เอาประกันภัยสอบถามชื่อ นามสุกล บริษัทที่สังกัด เลขที่ใบอนุญาต และสอบถามถึงแหล่งที่มาของข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าหากบุคคลนั้นไม่แจ้งรายละเอียดทั้งหมดข้างต้น ผู้เอาประกันภัยสามารถนำเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อเข้ามา ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีได้ หรือแจ้งไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยติดต่อที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัทประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองกรมธรรม์ของผู้เอาประกันภัย หรือ ติดต่อที่สมาคมประกันชีวิตไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-679-8080 หรือช่องทาง e–mail : tlaa@tlaa.org