กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) โดย พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ศารุติ แขวงโสภา, พ.ต.อ.ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ, พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติ กรณีจับกุมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอมยี่ห้อดัง ดังนี้
ตามที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับแจ้งจากประชาชนว่า มีการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ Dr.Jill ทางสื่อสังคมออนไลน์ ในราคาที่ถูกกว่าปกติ เชื่อว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม จึงได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สืบสวนสอบสวนจนพบแหล่งที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. และ อย. ได้นำหมายค้นของศาลแขวงบางบอน เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้า ซอยกำนันแม้น 13 แขวงคลองบางพราน เขตบางบอน กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยี่ห้อ Dr.Jill จำนวน 4,400 กล่อง และ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Facial Mark BLOOD ORANGE จำนวน 38,400 ซอง ซึ่งทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงได้ตรวจยึดเป็นของกลางและจับกุมชายชาวจีน อายุ 33 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของโกดังนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ,“ขายเครื่องสำอางที่มีฉลากไม่ถูกต้อง” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” มีอัตราโทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ฐาน “จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในปัจจุบันมีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอมยี่ห้ออื่นจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าปกติ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าว ไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและอาจมีสารอันตรายปลอมปนอยู่ ขอแจ้งเตือนให้ผู้กระทำความผิดหยุดการกระทำดังกล่าว หากตรวจพบจะดำเนินคดีถึงที่สุด และขอฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในร้านที่เชื่อถือได้ หากสงสัยหรือพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวต่อไปว่า เครื่องสำอางปลอมที่ยึดได้ในครั้งนี้มักขายตามร้านค้าออนไลน์ ตลาดนัดที่ โดยกล่าวอ้างซื้อตัดลอต ของไม่เสียภาษี และขายในที่ราคาถูก ทำให้ผู้บริโภคได้รับเครื่องสำอางที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานและไม่ทราบแหล่งผลิตว่าอยู่ที่ใด อาจเกิดแพ้จากการใช้เครื่องสำอางปลอมได้ จึงขอเตือนผู้บริโภคก่อนซื้อ ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง ควรตรวจสอบข้อมูลอนุญาตทาง Oryor Smart Application หรือเว็บไซต์ อย.www.fda.moph.go.th ก่อนทุกครั้ง และไม่ซื้อเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง ไม่มีฉลากหรือแสดงฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ หรือที่มีราคาถูกเกินไป และอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณที่เกินไปจากความเป็นเครื่องสำอาง การที่โฆษณาสรรพคุณขาวภายใน 7 วัน ขาวนีออน ขาวออร่า ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ รอยสิว ริ้วรอย มักพบว่ามีสารห้ามใช้ เมื่อใช้ไประยะหนึ่งผิวที่ดูขาวจะกลายเป็นดำคล้ำเป็นฝ้าถาวรหรือเป็นแผลเป็นถาวรไม่สามารถรักษาให้หายได้ ที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง เช่น สารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ สเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้เป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหน้าดำ ผิวบางลง แพ้แสงแดดหรือแสงไฟได้ง่าย ผิวแตกลายถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รับสารปรอทในปริมาณมาก อาจเกิดพิษสะสม ส่งผลให้ไตอักเสบ ซึ่งเคยมีผู้แพ้สารปรอทในเครื่องสำอาง จนเสียชีวิตมาแล้ว หากพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556